เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช. ลงนามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 6/2558 โยกย้ายตำแหน่งข้าราชการระดับสูง ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 6 คนรวด
ในจำนวนนี้ รวมถึงนางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้ไปดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาการศึกษา และให้
นายกำจร ตติยกวี ย้ายจากเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา มาเป็นปลัดกระทรวง ฯลฯ
ระบุเหตุผลเพียง ว่า เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ความหมายแท้จริง น่าจะเป็นการวางตัวปลัดคนใหม่ รองรับการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาที่ล่าช้า ไร้ผลงานความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ข้าราชการเกิดความเชื่อมั่นในความต่อเนื่อง เพราะปลัดคนใหม่มิใช่รอเกษียณไปวันๆ
ที่น่าสนใจ เห็นจะเป็นคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 7/2558 เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างอำนาจการบริหารงานขององค์กรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 3 แห่ง ให้กรรมการพ้นจากตำแหน่ง ให้ผู้บริหารยุติการปฏิบัติหน้าที่ และให้ตรวจสอบความโปร่งในการใช้จ่ายงบประมาณด้วย
1) เริ่มจากให้กรรมการคุรุสภา, กรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค. และกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค. พ้นจากตำแหน่ง
ให้เลขาธิการคุรุสภา, เลขาธิการ สกศค. และผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกศค.หยุดปฏิบัติหน้าที่
พร้อมกันนี้ ยังให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจการบริหารของหน่วยงานทั้ง 3 แห่ง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสามารถไปควบคุมดูแลโดยตรง
และที่ต้องติดตามอย่างไม่กะพริบตา ก็คือ การสั่งให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร. เข้าไปตรวจสอบความถูกต้องและโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ การบริหารการเงินทรัพย์สิน และผลประโยชน์อื่นใด ของคุรุสภา สกศค. และองค์การค้าของ สกศค. แล้วรายงานผลให้หัวหน้า คสช.ทราบโดยเร็ว
นี่น่าจะเป็นสัญญาณของ “การลับมีดรอเชือด”
เพราะหน่วยงานเหล่านี้ มีเรื่องอื้อฉาว ถูกบรรดาครูร้องเรียนอื้ออึง อลหม่าน หมักหมมมาช้านาน
2) หากสืบสาวลงไปดู จะพบว่าหน่วยงานเหล่านี้ มีกรณีอื้อฉาวที่อยู่ระหว่างการสอบสวนหลายเรื่อง
ยกตัวอย่าง
เรื่องร้องเรียนการเรียกรับเงินจากผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้แทนคุรุสภา ที่จะเข้าไปเป็นอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา 169 เขต
เรื่องนี้ ครูผู้ร้องเรียนเรียกขานว่า “ครูกินครู”
แม้แต่เรื่องของเงิน ช.พ.ค. หรือ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนสมาชิกคุรุสภา ก็ถูกตั้งคำถามว่ากลายเป็นแหล่งให้คนเข้ามาหากินกับสมาชิก หรือว่าช่วยสมาชิกกันแน่ โดยเฉพาะกรณีนำเงินสมาชิกไปลงทุนในโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง กว่า 2 พันล้านบาท ส่อว่าจะเป็นการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ สุ่มเสี่ยง
กรณีโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (โรงแรมครู) ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ วงเงิน 360 ล้านบาท ฯลฯ
หากจะค้นลึกลงไปในวงการศึกษา ต้องขออนุญาตอาศัยข้อมูลจากเว็บข่าวในแวดวงการศึกษาโดยตรงคือ www.siamedunews.com ที่ติดตามปัญหาอื้อฉาวของหน่วยงานในกระทรวงศึกษาฯอย่างต่อเนื่อง โดยข้อเขียนของ “วิชเทพ ฦๅชาฤทธิ์” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณีอื้อฉาวของหน่วยงานในกระทรวงมากมายหลายกรณี เช่น
เรื่องเก่าๆ เดิมๆ คือ
จัดสวัสดิการให้สมาชิกไม่ว่าการจัดหาปืนขาย ที่ดิน บ้าน-คอนโดฯ จัดสรร รถมอเตอร์ไซค์ รถเก๋ง รถกระบะ
เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค สร้างวัตถุมงคลให้เช่าบูชา แม้กระทั่งการให้ครูที่เป็นสมาชิก ช.พ.ค.กู้เงินเพื่อไปปลดหนี้
ล้วนแต่ถูกทวงถาม ถูกเคยร้องเรียนกล่าวหา เป็นที่น่าสงสัยของมวลสมาชิกที่เป็นครูอาจารย์ผู้บริหารการศึกษาและบุคลากรทางการศึกษามาตลอดว่า ใคร กลุ่มใดได้กินหัวคิวและกินตามน้ำ
การรับจ้างทำสมุด อบจ.อุดรธานี ปี 2554 จำนวน 3,555,555 เล่ม มูลค่า 31 ล้านบาท
กรณีแก้ไขสัญญารับจ้างทำกล่องซีดีโครงการเพลงลูกทุ่งเทิดพระเกียรติ 60 ปี
กรณีคดีหนังสือปลอมและหนังสือแบบเรียนหาย มีบอร์ดเป็นผู้รับเงินรางวัลนำจับ 500,000 บาท
กรณีนำปั๊มน้ำมันองค์การค้าฯ ให้เช่าในราคาถูก เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 10.8 ตารางวา
กรณีต่อสัญญาจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยที่มีคดีลักหนังสือแบบเรียนทำงานต่อ
กรณีจัดซื้อจัดจ้างกระดาษ มีการซอยงบฯ ถึงจำนวน 15 ครั้ง เป็นเงินกว่า 105 ล้านบาท
กรณีผู้บริหารคนหนึ่งยักยอกเงินสหกรณ์ 30 ล้านบาท และนำเงินกองทุนสวัสดิการเจ้าหน้าที่ ประมาณ 80 ล้านบาท ไปใช้ส่อว่าไม่เป็นไปตามระเบียบกองทุน ฯลฯ
3) ในอนาคตอันใกล้ หาก คตร.มีการตรวจสอบแล้ว พบความผิดปกติ ส่อว่าจะมีการทุจริตประพฤติมิชอบ หรือก่อให้เกิดความเสียต่อส่วนรวม หรือหน่วยงาน น่าคิดว่า คงจะต้องมีการลงดาบอีกยกใหญ่
ไม่ว่าจะในทางวินัย ทางแพ่ง หรือแม้แต่ทางอาญา เอากับผู้เกี่ยวข้องต่อไป
หากรัฐบาล คสช.สามารถสะสางปัญหาที่หมักหมม สั่งสม เรื้อรังในกระทรวงศึกษาธิการ
จัดการกับ “ขบวนการครูกินครู” อย่างเด็ดขาด
จัดการกับมาเฟียในคราบครู
จัดระบบในการดูแลสวัสดิการครู เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของบุคลากรการศึกษาอย่างแท้จริง
ก็เสมือนการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง
สามารถจะเข้าเกียร์เดินหน้าปฏิรูปการศึกษาได้เต็มกำลัง โดยที่เครื่องไม่รวน ไม่สะดุด
ที่มา คอลัมน์ กวนน้ำให้ใส โดย สารส้ม หนังสือพิมพ์แนวหน้า