คอลัมน์หมายเลข 7 ต้านทุจริตตามติดกลโกง วันนี้เจาะลึกตามหากองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. 2,100 ล้านบาท ที่นำไปร่วมลงทุนกับเอกชนทำโครงการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตามจากคุณสมโภชน์ โตรักษา
จากจุดเรี่มต้นที่มีคุณครูมาร้องเรียนกับคอลัมน์หมายเลข 7 ให้ตรวจสอบคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ สกสค. โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. นำกองทุนนี้ปี 2556,500 ล้านบาท และปี 2557, 2,100 ล้านบาทรวม 2,600 ล้านบาท ไปร่วมลงทุนโครงการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 90 เมกกะวัตต์ กับบริษัทบิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี ทั้งที่ตอนนั้นจดทะเบียนตั้งบริษัทยังไม่ถึงปี
ช่อง 7 สี โดยคอลัมน์หมายเลข 7 จึงขยายผลตรวจสอบความไม่โปร่งใสโครงการนี้ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนได้ข้อมูลจากผู้บริหาร สกสค. ว่าเงินที่นำไปลงทุนสัญญาแรก เอกชนนำส่งคืนเงินต้น 500 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปีแล้วตั้แงต่ปี 2556
ส่วนสัญญาที่ 2 ครบกำหนดสัญญาแล้วตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคมปี 2557 เอกชนบอกว่าจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญาครบแล้ว ส่วนเงินต้น 2,100 ล้านบาท ขอขยายสัญญา โดยยอมเสียค่าปรับพร้อมดอกเบี้ย 3 เดือน รวม 60 ล้านบาท
และนี่คือคำให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารบริษัทบิลเลี่ยน กับคอลัมน์หมายเลข 7 ในวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา
ที่มาคลิปจาก http://s.ch7.com/119349
นอกจากนี้ การร่วมลงทุนครั้งนี้ยังมีขั้นตอนปฏิบัติที่อาจไม่ถูกต้องตามสัญญาร่วมลงทุน
อย่างไรก็ตาม จนถึงวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมาผู้บริหาร สกสค.ขณะนั้น ยืนยันว่า เอกชนยังไม่นำส่งคืนเงินต้น 2,100 ล้านบาท และมอบเงิน 60 ล้านบาท รวมทั้งไม่นำตั๋วสัญญาใช้เงินจากธนาคาร หรืออาวัล มูลค่า 2,100 ล้านบาท มามอบให้คณะกรรมการ เพื่อแทนหลักทรัพย์ที่วางค้ำประกันไว้ ซึ่งอ้างว่ามีมูลค่า 5,000 ล้านบาท
มีข้อสังเกตว่า เงินจากกองทุนนี้ซึ่งธนาคารออมสินให้การสนับสนุนตอบแทนครูและบุคลากรทางการศึกษาที่กู้เงินจากธนาคาร โดยหักให้ร้อยละ 50 สตางค์ต่อปี เพื่อเป็นสวัสดิการให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ผ่านมาไม่เคยมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนว่า ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนนี้ถึงปัจจุบันมียอดรวมเท่าไหร่และใช้จ่ายไปเพื่อการใดบ้าง กรรมการบริหารกองทุนเปิดเผยครั้งนี้ แค่ยอมรับมีเงินกองทุน 6,100 ล้านบาท แต่นำไปร่วมลงทุนกับเอกชนรายนี้ 2 ปี รวม 2,600 ล้านบาท
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น คอลัมน์หมายเลข 7 ลงพื้นที่ไปที่จังหวัดเพชรบุรี ตรวจสอบความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงาน ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์บนพื้นที่ 1,192 ไร่ หมู่ที่ 3 ตำบลยางน้ำกลัดใต้ อำเภอหนองหญ้าปล้อง พบว่ายังไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ ทั้งที่สัญญาร่วมลงทุนผ่านมากว่า 2 ปีแล้ว
การรวบรวมที่ดินจำนวนนี้ บริษัทบิลเลี่ยนต้องทำสัญญาซื้อขายถึง 3 สัญญาด้วยกัน คือ สัญญาแรก 27 แปลง สัญญาที่สอง 6 แปลง ทำสัญญาซื้อขายวันที่ 5 กุมภาพันธ์ปี 2557 และสัญญาที่สาม 16 แปลง ทำสัญญาซื้อขายวันที่ 13 มีนาคมปี 2557 รวม 3 สัญญา มีมูลค่า 39 ล้าน 5 แสนบาท ซึ่งแพงกว่าราคาประเมินที่ดินของทางการ
นอกจากนี้ การซื้อขายที่ดินแปลงนี้ เกิดขึ้นหลังจากเอกชนรายนี้ได้รับโอนเงิน 2,100 ล้านบาท รวมทั้ง ราคาก็ต่างจากที่ผู้บริหารบริษัทบิลเลี่ยน บอกกับคอลัมน์หมายเลข 7 ว่ามีราคาประมาณ 600 ล้านบาท ที่ดินแปลงนี้คือหนึ่งในหลักทรัพย์ที่เอกชนใช้วางค้ำประกันแทนอาวัลให้กับคณะกรรมการบริหารกองทุน ดังนั้นวันที่ 4 เมษายนปี 2557 เลขาธิการ สกสค.ขณะนั้น จึงสอบถามเรื่องนี้จากสำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรี สาขาเขาย้อย
วันพรุ่งนี้ติดตามการขยายผลตรวจสอบฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยง และข้อพิรุธการทำโครงการนี้
ที่มาจาก สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง 7 วันที่ 20 เม.ย. 2558
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
• คอลัมน์หมายเลข 7 : ตามหากองทุนเงินครู 2,100 ล้านบาท ตอน 2