หนุนย้ายบิ๊กศธ.เชื่อไม่มีนัยยะอื่นแฝง เหมาะสมทุกคน ตรงสายงานเดิมหวังปฏิรูปสำเร็จ
จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว โยกย้ายข้าราชการระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) 6 ตำแหน่ง ประกอบด้วย นางสุทธศรี วงษ์สมาน พ้นจากปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) , นายพินิติ รตะนานุกูล พ้นจากเลขาธิการ สกศ.ไปเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) , นพ.กำจร ตติยกวี พ้นจากเลขาธิการ กกอ.ไปเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิกาน , นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร พ้นจากเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ , นายอดินันท์ ปากบารา พ้นจากผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นเลขาธิการ กช.และนางรัตนา ศรีเหรัญ พ้นจากรองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไปเป็นเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (กคศ.) นั้น
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 19 เมษายน ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา กล่าวว่า กรณีที่มีคำสั่งดังกล่าว น่าจะมีเป้าหมายในการปฏิรูปการศึกษา โดยเชื่อว่าไม่มีนัยยะอื่นแอบแฝง ที่ผ่านมา การโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ไม่ตรงตามสาย จึงไม่ตอบสนองนโยบาย คสช.โดยเฉพาะ 2 ระดับสำคัญ ได้แก่ ระดับเลขาธิการ และ ปลัดกระทรวง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีฐานะระดับเดียวกัน ดังนั้นจึงสั่งย้าย นางสุทธศรี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ไปเป็นเลขาธิการ สกศ.ซึ่งเติบโตมาในสายนี้โดยตรง และให้ นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการ สกศ.มาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวง แทน
“ที่น่าจับตาคือการสั่งให้ยุติบทบาทการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และคณะกรรมการคุรุสภา ชุดปัจจุบัน เพราะ สกสค.มีผลประโยชน์มหาศาล โดยเฉพาะ 2 เรื่องหลัก คือ การมีโรงพิมพ์ที่ผลิตหนังสือเรียนให้กับกระทรวงศึกษาธิการทุกรายวิชา ทุกชั้นเรียน และการดูแลเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ ซึ่งมีการร้องเรียนการทุจริตมาตลอด ซึ่งมีกลุ่มเดิมๆ ที่เกี่ยวข้อง” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว
ผศ.ดร.อดิศร กล่าวอีกว่า ในส่วนของคณะกรรมการครุสภา เป็นเพียงโดนหางเลขเท่านั้น ดังนั้น ตนจึงเห็นด้วยกับการใช้มาตรา 44 โยกย้ายบุคลากรระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ แม้ว่าอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตได้ทั้งหมด เป็นเพียงการระงับ ยับยั้งได้ชั่วขณะก็ตาม เพราะกระทรวงศึกษาธิการ มีวัฒนธรรมองค์กรหลายอย่างที่ฝังรากลึกมานาน สังเกตุได้จากที่ผ่านมาจะมีการตรวจสอบพบการทุจริตในทุกระดับชั้น จึงต้องใช้เวลาปฏิรูปองค์กรอีกนานพอสมควร
Advertisement
ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า เท่าที่ดูการโยกย้ายผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ น่าจะเป็นการพิจารณาตามความเชี่ยวชาญของแต่ละท่าน เช่น นางสุทธศรี เคยอยู่ สกศ.มาก่อน การกลับไปเป็นเลขาธิการ สกศ.ก็เชื่อว่าจะเดินหน้างานปฏิรูปที่อยู่ระหว่างดำเนินการได้อย่างดี ขณะที่ นายพินิติ มีความเชี่ยวชาญด้านอุดมศึกษา หากไปเป็นเลขาธิการ กกอ.ก็น่าจะสานงานด้านอุดมศึกษาได้อย่างดี
นายชัยพฤกษ์ เปิดเผยอีกว่า ขณะที่ นพ.กำจร ถือว่าเหมาะสมที่จะมาเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเท่าที่ได้สัมผัส นพ.กำจร เป็นคนมองภาพกว้าง ตัดสินใจได้รวดเร็ว อีกทั้งมีความเข้าใจในเรื่องการศึกษาเป็นอย่างดี จึงไม่น่าจะมีปัญหา
“ส่วนการออกคำสั่งให้คณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการ สกสค.และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของ สกสค.พ้นจากตำแหน่ง และมีคำสั่งให้เลขาธิการคุรุสภา เลขาธิการ สกสค.และผู้อำนวยการองค์การค้าฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ พร้อมทั้งให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบความถูกต้อง โปร่งใส ในการใช้จ่ายงบฯ การบริหารการเงินและผลประโยชน์อื่นใดของทั้ง 3 หน่วยงาน นั้น เท่าที่ดูในภาพรวม ไม่น่าจะตรวจสอบปัญหาการทุจริตอย่างเดียว แต่รัฐบาลน่าจะตั้งใจเข้ามาจัดระเบียบการดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพครูให้เกิดประโยชน์แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาสูงสุด” นายชัยพฤกษ์ ระบุ
ที่มา แนวหน้า วันจันทร์ ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2558