ยกเลิกจัดซื้อจัดจ้าง12วิธีสิ้นก.ย. บัญชีกลางดันกฎหมายใหม่เข้า ครม.หลังสงกรานต์
กรมบัญชีกลางชง "ร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ" เข้า ครม.หลังสงกรานต์นี้ ชี้เพิ่มความโปร่งใส-เอาผิดผู้สั่งการ/นักการเมืองได้ ปูพรมทุกหน่วยงานทั่วประเทศรวมถึง อปท.-รสก.-องค์การมหาชน ใช้ "อีบิดดิ้ง"-"อีมาร์เก็ต" แทนวิธีจัดซื้อจัดจ้าง 12 วิธีเดิม ตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ คัดลอกมาจากครูบ้านนอกดอทคอม
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้ได้ปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ... ใกล้เสร็จแล้ว โดยคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้ในช่วงหลังสงกรานต์นี้ โดยมีประเด็นที่เป็นนัยสำคัญ 5 เรื่อง ได้แก่
1) จะกำหนดให้วางหลักในการจัดซื้อจัดจ้างว่าต้องเป็นไปโดยโปร่งใส มีการแข่งขันด้านราคาที่เป็นธรรม
2) จะเปลี่ยนไปใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างที่แตกต่างไปจากปัจจุบัน ที่มี 12 วิธี ได้แก่ ตกลงราคา, สอบราคา, ประกวดราคา, ประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction), วิธีพิเศษ, วิธีกรณีพิเศษ, จ้างที่ปรึกษาโดยวิธีตกลง, จ้างที่ปรึกษาโดยวิธีคัดเลือก, จ้างออกแบบโดยวิธีตกลง, จ้างออกแบบโดยวิธีคัดเลือก, จ้างออกแบบโดยวิธีคัดเลือกแบบจำกัดข้อกำหนด และจ้างออกแบบโดยวิธีพิเศษ แล้วเปลี่ยนไปเป็นระบบ e-Market และระบบ e-Bidding แทน
3) จะมีบทกำหนดโทษ กรณีทำผิด โดยครอบคลุมการลงโทษผู้สั่งการให้จัดซื้อจัดจ้าง เช่น นักการเมือง หรือหัวหน้าส่วนราชการ ที่ไปสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำ ก็ต้องรับผิดด้วย 4) จะมีสัญญาคุณธรรม (Integrity Pact) เขียนไว้ในกฎหมาย เพื่อกำหนดให้โครงการที่มีความสำคัญต้องนำไปใช้ และ 5) จะบังคับใช้ครอบคลุมถึงรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และองค์การมหาชน จากเดิมที่ใช้เฉพาะส่วนราชการ
"เดิมเรายังไม่มีกฎหมายเป็น พ.ร.บ. จะมีแค่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 กับฉบับแก้ไขปรับปรุงปี 2549 ซึ่งต่างชาติเขาอยากให้เราออกเป็น พ.ร.บ. โดยหากได้รับความเห็นชอบจาก ครม. ก็จะไปตรวจร่างที่กฤษฎีกา ประมาณ 2 เดือน และเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีกประมาณ 2 เดือน จากนั้นก็จะเริ่มใช้ทันในปีงบประมาณ 2559" นายมนัสกล่าว
และว่า ที่ผ่านมาได้เริ่มนำร่องดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น การนำสัญญาคุณธรรมมาใช้ในบางโครงการ ใช้ระบบ e-Market และ e-Bidding นำร่องกับกระทรวงการคลัง และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังทั้ง 9 กรม กับโรงพยาบาลอีก 3 แห่ง และในเดือน เม.ย.นี้จะเริ่มใช้กับทุกส่วนราชการในกรุงเทพมหานคร จากนั้นวันที่ 1 ต.ค. 2558 ก็จะเริ่มใช้กับทุกหน่วยงานทั่วประเทศ
นายมนัสกล่าวอีกว่า กฎหมายใหม่ยังมีการกำหนดให้มีคณะกรรมการ 5 ชุดได้แก่ 1) คณะกรรมการนโยบาย 2) คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยปัญหา 3) คณะกรรมการพิจารณาร้องเรียนและอุทธรณ์ 4) คณะกรรมการกำกับราคากลาง และ 5) คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต
Advertisement
"เราเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเป็นการเปลี่ยนระบบ ซึ่งก่อนหน้านั้นเราก็มีการผ่อนคลายกฎระเบียบ เพื่อช่วยเร่งรัดเบิกจ่ายไปหลายเรื่อง ซึ่งการเบิกจ่ายภาพรวมตอนนี้ก็ดีขึ้นกว่าเดิมมาก" นายมนัสกล่าว
ขณะที่นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่า การเบิกจ่ายงบประมาณและงบฯลงทุนในครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 2558 น่าจะทำได้ดีกว่าครึ่งปีแรกที่มีการเบิกจ่ายจนถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2558 แล้ว 51% โดยงบฯลงทุนเบิกจ่ายแล้ว 32% และมีการก่อหนี้ผูกพันเรียบร้อยแล้ว 44% ทั้งนี้คาดว่าการเบิกจ่ายทั้งปีงบประมาณจะทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะงบฯลงทุนน่าจะทำได้กว่า 80%
ที่มา ประชาชาชาติ 14 เม.ย 2558
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
แนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market : e - market) และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding : e - bidding)