วันนี้ (14 เม.ย.) ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ฐานะโฆษกกรรมาธิการ(กมธ.)ปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า กมธ.ปฏิรูปการศึกษาฯ ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 4 ชุด เพื่อดูการจัดการศึกษาใน 4 ระดับ ประกอบด้วย การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา การอุดมศึกษา และการศึกษาตลอดชีวิต สำหรับผู้ที่อยู่นอกระบบการศึกษาจนถึงผู้สูงวัย โดยคณะทำงานแต่ละชุดจะไปดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1.ลงพื้นที่ดูแบบอย่างการจัดการเรียนรู้ที่ดีของการเรียนการสอนแต่ละประเภท เพื่อถอดบทเรียนเชิงกลไกต่างๆออกมาว่า มีทำงานกันอย่างไร 2.ทำงานเชื่อมโยงกับ กมธ.ของ สปช.ที่เกี่ยวข้อง และ3.การปฏิรูปเร็ว ที่จะการตอบโจทย์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเรื่องการศึกษา อาทิ ทำอย่างไรเด็กอ่านออกเขียนได้ เด็กมัธยมศึกษามีทักษะอาชีพพร้อมสู่โลกการทำงาน และ ครูดีๆกระจายไปท้องถิ่นได้ เป็นต้น
“ คณะทำงานทั้ง 4 ชุดจะนำข้อมูลจาก 3 ทาง มาผสมผสานทำรายละเอียดจนกระทั่งมีคำตอบที่ชัดเจน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จได้คำตอบในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่ง กมธ.ปฏิรูปการศึกษาฯตั้งใจจะนำเรื่องการกระจายอำนาจการจัดการเชิงพื้นที่ เป็นตัวร้อยเรื่อง โดยใช้ 15 จังหวัดที่นำร่องโครงการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ มาเป็นพื้นที่ทดลองการปฏิรูปเชิงระบบในแต่ละเรื่อง มีการทำงานแบบบูรณาการ ไม่แยกกันทำงานเป็นแท่งการศึกษาแต่ละระดับ เช่น ทดลองระบบการกระจายอำนาจการกระจายทรัพยากรการเงิน การทดลองระบบบุคลากรครูใหม่ และ การทดลองลงทุนใหม่เพื่อเด็กด้อยโอกาส เป็นต้น ซึ่งการทดลองเป็นพื้นที่จังหวัดจะง่ายกว่าการเปลี่ยนทั้งประเทศ ที่บางเรื่องอาจจะยุ่งยากและมีแรงต่อต้านเยอะ" ดร.อมรวิชช์ กล่าวและว่า การทดลองเชิงระบบ จะทำให้เห็นโอกาสและความหวังของการปฏิรูปการศึกษาที่จับต้องได้เป็นรูปธรรม เร็วขึ้น ส่วนการปฏิรูประยะยาว จะมีคณะกรรมการการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เกิดขึ้น เพื่อรับไม้ต่อจากคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือ ซุปเปอร์บอร์ด ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน .
ที่มา เดลินิวส์ วันอังคาร 14 เมษายน 2558