พนักงาน ม.อ้อนขอคุ้มครองสิทธิ์
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เป็นประธาน ได้นำร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ที่เสนอโดยที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มาพิจารณาว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ สนช. ตนในฐานะ รมว.ศธ.คงไม่ขัดขวางหรือไม่เห็นด้วย เพราะเดิมก็เคยมีทบวงมหาวิทยาลัยดูแลอุดมศึกษาอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายว่าการปรับโครงสร้างของทุกกระทรวงขอให้ชะลอเอาไว้ก่อน เพื่อไม่ให้กระทบกับการพัฒนาในส่วนอื่นๆ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะให้ยุติการดำเนินการทั้งหมด แต่อาจจะทำไว้เพื่อเสนอในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าหากจะแยกอุดมศึกษาออกจาก ศธ.ต้องดูเรื่องข้อกฎหมายรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจน โดยต้องวางโครงสร้างให้ดี ซึ่งขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ส่ง ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา มาให้ตนพิจารณาแล้ว แต่คงต้องเชิญ ดร.กฤษณพงษ์ กีรติกร รมช.ศธ. และ ดร.กำจร ตติยกวี เลขาธิการ กกอ.มาหารือ เพราะเมื่อดูรายละเอียดยังพบข้อสงสัยและไม่เห็นด้วยอยู่หลายมาตรา หากต้องปรับแก้ตนก็พร้อมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
วันเดียวกัน เวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย ประมาณ 20 คน นำโดย ดร.สุมิตร สุวรรณ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ในฐานะประธานเครือข่าย ยื่นหนังสือ ถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เพื่อขอให้ช่วยผลักดันร่าง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา โดย ดร.สุมิตร กล่าวว่า ขอให้ สนช.ช่วยผลักดันกฎหมายดังกล่าว เพราะถือเป็นหลักประกันที่ดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพขั้นต่ำของพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 100,000 รายในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพราะเมื่อข้าราชการได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือน รัฐบาลก็ควรจัดงบประมาณเพิ่มให้ในอัตราที่เท่ากันด้วย
ด้านนายพรเพชร กล่าวว่า กฎหมายนี้ต้องเสนอผ่าน ครม.มาถึง สนช.จึงจะพิจารณาได้ตนแนะนำให้ทางเครือข่ายฯไปหารือปรับแก้รายละเอียดในมาตราต่างๆที่ขัดแย้งให้เห็นตรงกัน และขอความเห็นชอบ ครม.ตามขั้นตอน
ที่มา ไทยรัฐ 10 เม.ย. 2558