จากที่มีกรณีการแชร์ในโลกโซเชียลมีเดีย กรณีที่รัฐบาลเตรียมปล่อยตัวนักโทษ กว่า 38,000 คนให้ได้รับอิสรภาพ ว่าจะก่อให้เกิดปัญหานักโทษก่อคดีซ้ำซาก และทำให้สังคมต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นนั้น ในเรื่องนี้ ได้มีข่าวออกมาว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีนโยบายให้ความมั่นใจกับผู้ได้รับอภัยโทษ ให้มีเกียรติ มีงาน มีศักดิ์ศรี และสังคมโดยรวมต้องเกิดความสบายใจ ปลอดภัย ไม่วิตกกังวลว่าบุคคลเหล่านี้จะกลับมาทำผิดและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอีก ดังข่าวนี้
"บิ๊กตู่" จัดให้ !!! ใช้ม.44 ปล่อยนักโทษ 3.8 หมื่น หลังมีเกณฑ์พิจารณา
"ประยุทธ์" เผยขณะนี้ได้มีการอภัยโทษให้ผู้ต้องคดี เป็นนักโทษชั้นดีทั้งสิ้น 38,000 คน โดยใช้อำนาจตามม.44
วันนี้ ( 7 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมครม. ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สั่งการในที่ประชุมว่า ขณะนี้ได้มีการอภัยโทษให้ผู้ต้องโทษคดีต่างๆ เป็นนักโทษชั้นดี ได้ออกจากการคุมขังแล้วจำนวน 38,000 กว่าคน สังคมบางส่วนกังวลว่านักโทษเหล่านั้นจะใช้ชีวิตอย่างไร จะกระทำผิดและกลับเข้ากรมราชทัณฑ์อีกหรือไม่
ขณะเดียวกันที่ผ่านมายังไม่มีการสำรวจว่าคนที่เคยได้รับการอภัยโทษแล้วมีกลับมาเข้ามาจำคุกเหมือนเดิมหรือไม่นายกฯจึงมีนโยบายให้ความมั่นใจกับผู้ได้รับอภัยโทษ ให้มีเกียรติ มีงาน มีศักดิ์ศรี และสังคมโดยรวมต้องเกิดความสบายใจ ปลอดภัย ไม่วิตกกังวลว่าบุคคลเหล่านี้จะกลับมาทำผิดและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอีก
“เมื่อยังไม่มีกฎหมายนายกฯ จึงกำหนดขั้นการปฏิบัติดังนี้ ขั้นแรก ให้มีการสำรวจส่งข้อมูลระหว่างกรมราชทัณฑ์และกรมการปกครองว่าคนที่ได้รับอภัยโทษเป็นใคร พักอาศัยที่ใด มีงานทำหรือไม่ จากนั้นให้กระทรวงแรงงานเข้ามาช่วยเหลือ จัดหางาน อาจมีการฝึกอาชีพเพิ่มเติมร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยระยะแรกอาจจะใช้วิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงเอ็มโอยูร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมราชทัณฑ์ กรมการปกครอง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้กระบวนทั้งหมดที่นายกฯ สั่ง ดำเนินการได้ จากนั้นใช้อำนาจของหัวหน้าคสช.ตามมาตรา 44 ที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ให้หน่วยงานต่างๆ สามารถเชิญบุคคลทั้งหลายที่ได้รับการอภัยโทษมารายงานตัวเพื่อสำรวจข้อมูลประกอบอาชีพ ที่พักอาศัยว่าเปลี่ยนจากเดิมอย่างไร ระยะสุดท้ายให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องหารือกันและจัดทำข้อกฎหมายที่ชัดเจนสำหรับรองรับการปฏิบัติแบบนี้ในอนาคต”พล.ต.สรรเสริญกล่าว
ที่มา ทีนิวส์ วันที่ 7 เมษายน 2558