พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดงานสานพลังเรียนรู้ครูนักปฏิบัติ : คืนความสุขสู่ผู้เรียน เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ว่า การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยในเวลานี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และคณะรัฐมนตรี กำลังดำเนินการเพื่อวางรากฐานการศึกษาไทยให้มั่นคงในระยะยาว การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาเน้นปรับโครงสร้างองค์กร ผลลัพธ์ที่ได้ คือ เกิดองค์กรขนาดใหญ่ การทำงานไม่คล่องตัว ขาดกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาในภาพรวม ทั้งยังไม่ส่งเสริมการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาตามเจตนารมณ์ ทำให้ประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ปรากฏไม่น่าพอใจ ดังนั้น แนวทางปฏิรูปการศึกษาที่ กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการจะมุ่งสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากภายในห้องเรียน หรือ เรียกว่าเป็นการปฏิรูปภาคปฏิบัติ เน้นปรับการเรียน เปลี่ยนการสอนของครูที่จะมีผลต่อนักเรียน มากกว่าปรับโครงสร้าง
"คนที่ติดตามเรื่องปฏิรูปการศึกษา จากภายนอกอาจไม่เห็นความเคลื่อนไหวมากนัก และมองว่ากระทรวง ประกาศปฏิรูป การศึกษามาหลายเดือน แต่ยังดูเงียบอยู่ เพราะส่วนใหญ่คิดว่าการปฏิรูปการศึกษา คือ ต้องปรับโครงสร้าง ต้องแยกองค์กร ซึ่งตรงนี้จะยังไม่เกิดขึ้น และอาจไม่เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ ซึ่งในความจริง ศธ.ได้ปฏิรูปมาอย่างต่อเนื่องเริ่มจากจุดเล็ก ๆ จากห้องเรียน โรงเรียน และ ศธ.ก็ได้เตรียมการปฏิรูปการผลิตและพัฒนาครู โดยในปีการศึกษา 2558 จะเริ่มรับนักศึกษาเข้าโครงการคุรุทายาท รวมถึงพัฒนาครูผ่านระบบสารสนเทศ แทนการให้ครูต้องออกมาอบรมในโรงแรม ซึ่ง เสียทั้งเวลาและงบประมาณ ทั้งยังเป็นการทิ้งห้องเรียนด้วย" รมว.ศึกษาธิการ กล่าว.
ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 3 เมษายน 2558