โดย...พวงชมพู ประเสริฐ
เฟ้นหา "คนเก่ง คนดี มีความตั้งใจอยากเป็นครู เรียนจบแล้ว กลับไปเป็นครูที่บ้านเกิด"... นี่คือคอนเซ็ปต์ผู้ได้รับทุน "คุรุทายาท" เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ไฟเขียวให้ "ฟื้นโครงการคุรุทายาท" ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจาก "พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อาศัยมติที่ประชุม "5 เสือ ศธ." เห็นชอบและมอบหมายให้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ยุค "รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล" เลขาธิการ สกศ. เป็นเจ้าภาพไปศึกษาและเขียนรายละเอียดโครงการให้เสร็จ เพื่อนำเสนอ ครม.
ก่อนจะเปิดรับสมัครนักเรียนทุนคุรุทายาทรุ่นแรก ในปีการศึกษา 2558 สกศ. ร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และเครือข่ายคุรุทายาท 4 ภูมิภาค ร่วมกันสะท้อนภาพปัญหาครูขาดแคลน และปัญหาครูขอย้ายออกนอกพื้นที่ ผ่านหัวข้อ "คุรุทายาท voice" โดย "ศุภโชค ปิยะสันต์" ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย ในฐานะแกนนำเครือข่ายคุรุทายาท 4 ภูมิภาค
ศุภโชค เปิดประเด็นว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน พบว่า มีครูขอโยกย้ายออกนอกพื้นที่ อย่างเช่น พื้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) เชียงใหม่เขต 5 มีอัตราการขอโยกย้าย ร้อยละ 10 หรือพื้นที่ สพป.เชียงราย เขต 3 มีอัตราการโยกย้ายราวร้อยละ 15 ดังนั้นเครือข่ายคุรุทายาทตั้งแต่รุ่นที่ 1-12 ประมาณ 5,000 คน มีข้อเสนอเกี่ยวกับโครงการคุรุทายาทที่ไม่ต้องการให้มุ่งเพียงการแก้ปัญหาครูขาดแคลนในพื้นที่ห่างไกลเท่านั้น แต่ต้องแก้ปัญหาการขอโยกย้ายออกจากพื้นที่ด้วย
"ข้อเสนอเกี่ยวกับโครงการคุรุทายาท 4 ประเด็น ได้แก่
1.ควรมุ่งที่ครูในพื้นที่ยากลำบากห่างไกล เพื่อแก้ปัญหาอัตราการไหลเข้าออกในแต่ละฤดูกาลการจัดสรรบรรจุครู จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาการบรรจุครูในภาพใหญ่ แต่มีเป้าหมายเพื่อให้ได้ครูที่บรรจุแล้วสามารถทำงานระยะยาวในพื้นที่
2.ต้องมีการทำฐานข้อมูลจำนวนครูในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่ประเมินอัตราครูที่ต้องการทั้งระบบ แต่ต้องดูจำนวนครูที่ต้องการในพื้นที่ขาดแคลน
3.ต้องทำงานร่วมกับสถาบันผลิตครู เพื่อสร้างหลักประกันว่า เมื่อจบแล้ว ครูเหล่านี้ต้องมีคุณภาพและคุณสมบัติพร้อม ซึ่งจะเชื่อมโยงกับงบประมาณต่อหัวที่สูงขึ้น และการอนุมัติงบประมาณต่อหัวต้องทำให้เพียงพอ จากการประมาณการค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ต่อหัวประมาณ 150,000- 200,000 บาท การผลิตราว 1,000 คนต่อรุ่น จะใช้งบประมาณราว 1,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี หากงบประมาณไม่เพียงพอก็ไม่ควรตั้งเป้าสูง
และ
4.ต้องมีการบริหารจัดการที่คล่องตัว และมีความเป็นวิชาการ หากใช้ระบบปกติอาจจะมีความเสี่ยงสูง จึงควรมีสำนักงานเฉพาะที่ดูแลโครงการนี้อย่างต่อเนื่องในลักษณะวิจัยและพัฒนา และต้องมีการสร้างเครือข่ายคนทำงาน เข้ามาช่วยสนับสนุนงานในเชิงวิชาการเพื่อให้เกิดการพัฒนาเป็นระยะ สามารถแก้ปัญหาขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกลอย่างยั่งยืน
"นักเรียนที่ได้รับทุนคุรุทายาทจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ นักเรียนที่จะได้รับการประกันการมีงานทำและนักเรียนที่ได้รับทุนและประกันการมีงานทำ จะเน้นในพื้นที่ขาดแคลนยิ่งยวด เช่น ถิ่นทุรกันดาร และมีความเสี่ยงสูง อย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนการใช้ทุนคืน ต้องอย่างน้อย 5 ปี จึงจะมีสิทธิ์ขอย้าย" รศ.ดร.พินิติ ฉายภาพทุนคุรุทายา
ส่วนกระบวนการผลิตนั้น รศ.ดร.พินิติ สะท้อนว่า การเรียนการสอนต้องเพิ่มหลักสูตรในการพัฒนาสมรรถภาพ เพื่อให้มีจิตวิญญาณที่ดีในการเป็นครู คือ ดูแลลูกศิษย์เหมือนลูก ทั้งนี้การดำเนินการจะไม่มีการตั้งสำนักงานใหม่ขึ้นมาดูแล แต่จะดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการ ซึ่งมี 2 ชุด คือ 1.คณะกรรมการอำนวยการ ซึ่งประธานคณะกรรมการจะต้องไม่ใช่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่เป็นฝ่ายการเมือง เนื่องจากเมื่อมีการเปลี่ยนฝ่ายการเมือง นโยบายเปลี่ยนบ่อย ทำให้การดำเนินโครงการไม่ต่อเนื่อง จะต้องให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาเป็นประธาน และ 2.คณะกรรมการคัดเลือกและรับนักศึกษา
"จะต้องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการคุรุทายาทระยะยาว คือ 10 ปี เพื่อให้โครงการต่อเนื่องและยั่งยืน" รศ.ดร.พินิติ กล่าวสรุปในที่สุด
ที่มา คมชัดลึก วันอังคารที่ 7 เมษายน 2558