"กมล” แจงปีนี้มีร.ร.จับฉลากเพียง 22 แห่งทั่วประเทศ ส่วนร.ร.ดังเลือกสอบ 100% เพราะอยากได้เด็กเก่งไม่ใช่การวัดดวง ระบุเคยเสนอบอร์ด กพฐ.ขอยกเลิกจับฉลาก แต่บอร์ดยังให้คงไว้เพราะร.ร.บางแห่งยังต้องการ เชื่ออนาคตการจับฉลากจะสลายไปตามธรรมชาติ ย้ำ นร.ไม่มีที่เรียนเร่งแจ้งขอจัดสรรได้ที่ สพม.สพฐ.หรือร.ร.ที่สมัครเข้าเรียนภายใน 6-10 เม.ย.นี้
วันนี้ (5 เม.ย.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ได้รับรายงานจากผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ทั่วประเทศ ว่าภาพรวมการจับฉลากเข้า ม.1 ในวันนี้เป็นไปอย่างเรียบร้อยไม่พบปัญหาแต่อย่างใด โดยบางโรงเรียนที่มีเด็กใช้สิทธิ์การจับฉลากน้อยโรงเรียนก็อนุโลมรับเด็กไว้ทั้งหมด ส่วนโรงเรียนที่มีเด็กมาจับฉลากมากและรับทั้งหมดไม่ได้ สพฐ.ก็ได้กำชับไว้แล้วว่าให้โรงเรียนดูแลนักเรียนจัดหาโรงเรียนเครือข่ายรองรับ ทั้งนี้ ขอฝากด้วยว่านักเรียนคนใดยังไม่มีที่เรียนให้แจ้งความจำนงในวันที่ 6-10 เม.ย.นี้ ที่ สพม.หรือ สพฐ. หรือ ย้อนกลับไปที่โรงเรียนตัวเองสมัครสอบ เพื่อให้โรงเรียนส่งชื่อไปรวมกันและจัดสรรไปยังโรงเรียนสหวิทยาเขตต่างๆที่ยังมีที่นั่งให้
“การรับนักเรียนด้วยวิธีการจับฉลากนั้น ปีนี้ทั่วประเทศมีโรงเรียนที่ขอดำเนินการเพียง 22 แห่งเท่านั้น ส่วนโรงเรียนดังส่วนใหญ่ไม่ขอใช้การจับฉลาก เพราะต้องการรับนักเรียนโดยใช้คะแนนสอบ 100% เพื่อจะได้เด็กเก่งและตั้งใจในการอ่านหนังสือสอบเข้าเรียน ไม่ใช่ให้เด็กมาวัดดวงกันจากการจับฉลาก ซึ่งที่ผ่านมาผมเคยเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ไปแล้วว่าให้งดการรับเด็กเข้าเรียนชั้น ม.1 โดยวิธีการจับฉลาก แต่ กพฐ.ยังอยากให้คงเรื่องการจับฉลากไว้ก่อน เนื่องจากบางโรงเรียนยังอยากให้มีการจับฉลากอยู่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าท้ายที่สุดการจับฉลากเข้าเรียนจะยกเลิกไปเองตามธรรมชาติ และมีการใช้คะแนนสอบเรียงลำดับเข้ามาแทน" นายกมล กล่าวและว่า ทั้งนี้ ตั้งวันแรกที่ประกาศรรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ทั่วประเทศ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบร้องเรียนเรื่องทุจริต หรือ การเรียกรับเงิน หรือ แปะเจี๊ยะ เพื่อแลกที่นั่งเรียนแต่อย่างใด
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 5 เมษายน 2558