กว่าจะเป็นลี กวน ยิว และกว่าจะเป็นสิงคโปร์ในปัจจุบัน
โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์
ลี กวน ยิว บิดาผู้ก่อตั้งสิงคโปร์สมัยใหม่ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2558 สิริอายุ 91 ปี นายลี กวน ยิว เดิมชื่อแฮรี่ ลี กวน ยิว เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2466 เป็นคนจีนฮักกา (แคะ) ที่เกิดในสิงคโปร์ โดยทวดของเขามาตั้งรกรากอยู่ในสิงคโปร์เป็นรุ่นแรก นายลี กวน ยิวมีพี่น้องผู้ชาย 3 คน คือ เดนนิส ลี, เฟรดดี้ ลี, ลี ซวนยู และน้องสาว 1 คน คือโมนิกา ลี
ลี กวน ยิวกล่าวว่า เขาต้องเคยร้องเพลงชาติถึง 4 ชาติ คือ เพลงชาติอังกฤษ เพลงชาติญี่ปุ่น เพลงชาติมาเลเซีย และเพลงชาติสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการเล่าถึงประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ได้อย่างชัดแจ้งในช่วงชีวิตเก้าสิบเอ็ดปีของเขาที่เพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2556 นี้เอง ว่าคนสิงคโปร์จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ของโลกที่แปรผันไปอย่างรวดเร็วอย่างน่าพรั่นใจยิ่งนัก
ลี กวน ยิวไปเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ระหว่างที่เขาเรียนอยู่นั้น เขาชื่นชมลัทธิสังคมนิยมแบบของพรรคกรรมกร (Labour) หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่าพรรคแรงงานมากถึงขนาดไปช่วยหาเสียงให้เพื่อนผู้เป็นสมาชิกพรรคกรรมกรอย่างแข็งขัน ก่อนที่จะกลับไปสิงคโปร์เพื่อก่อตั้งพรรคสังคมนิยมชื่อว่าพรรคกิจประชา (People"s Action Party) ขึ้นที่บ้านเกิด
ลี กวน ยิวนำพรรคกิจประชาที่เขาก่อตั้งขึ้นไปรวมกับสหบาลกรรมกร เพราะช่วงนั้นสหบาลกรรมกรของสิงคโปร์เป็นสังคมนิยมแนวมาร์กซิสต์ กำลังคนและองค์การที่เข้มแข็งที่สุด การรวมกันของทั้งสองมีการชิงไหวชิงพริบกันอยู่ตลอดเวลา แต่ในที่สุดฝ่ายของลี กวน ยิวก็พ่ายแพ้ต่อพวกสหบาลกรรมกร ลี กวน ยิวถูกปลดออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจประชาจากการลงคะแนนเสียงภายในพรรคกิจประชานั่นเอง
แต่นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ (สิงคโปร์ได้รับสิทธิในการปกครองตัวเองภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่) นายลิ้ม หยูฮกได้ทำการกวาดล้างพวกคอมมิวนิสต์ โดยจับผู้นำของสหบาลกรรมกรของสิงคโปร์ในขณะนั้นไปเข้าคุกหรือเนรเทศจนหมด ทำให้ลี กวน ยิวได้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคกิจประชาอีกครั้งหนึ่ง
ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป พรรคกิจประชาของนายลี กวน ยิวได้คะแนนเสียงข้างมากจึงได้จัดตั้งรัฐบาล และนายลี กวน ยิวได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
ลี กวน ยิวเชื่อว่าหากสิงคโปร์ได้เอกราชจากอังกฤษ สิงคโปร์ก็คงไปไม่รอด เพราะสิงคโปร์เป็นเกาะเล็กนิดเดียว โดยเป็นเพียงเมืองท่าเล็กๆ ชายขอบอาณานิคมอังกฤษที่ถูกทิ้ง เต็มไปด้วยสลัมของคนจีนที่ยากจนจำนวนมากที่พร้อมจะก่อจลาจล สิงคโปร์ยังเป็นแหล่งซ่องสุมคอมมิวนิสต์มาลายาเชื้อสายจีน และชาวอินเดียและมาเลย์จำนวนหนึ่ง สิงคโปร์ไม่มีแม้แต่น้ำจืด ต้องซื้อน้ำจืดจากมลายู ไม่มีกองทัพ มีแต่ท่าเรือเก่าๆ ดังนั้นเขาจึงนำสิงคโปร์เข้ารวมกับสหพันธรัฐมาเลเซียใน พ.ศ.2506 และเขาได้ตั้งพรรคกิจประชาแห่งมาเลเซีย (The Malaysian People"s Action Party) ขึ้นในประเทศมาเลเซียเพื่อเป็นฐานทางการเมืองของเขาในมาเลเซียต่อไป โดยลี กวน ยิว และพรรคกิจประชาแห่งมาเลเซีย มีคะแนนจากชาวจีนในมาเลเซียเป็นส่วนมากในสภาแห่งสหพันธรัฐ รวมถึงการเป็นชาวจีนทำให้ลี กวน ยิวต่อต้านนโยบายภูมิบุตรที่ให้สิทธิพิเศษแก่คนมลายูมากกว่าชนชาติอื่นในสหพันธรัฐมาเลเซียอย่างรุนแรง จนเกิดเหตุจลาจลเชื้อชาติขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ.2507 ทำให้รัฐบาลมาเลเซียขับสิงคโปร์ออกจากสหพันธรัฐมาเลเซีย สิงคโปร์จึงเป็นประเทศเอกราชในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2508 ซึ่งนายลี กวน ยิวได้ร่ำไห้ออกประกาศเรื่องนี้แก่ชาวสิงคโปร์ว่า
"มันเป็นช่วงเวลาที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับข้าพเจ้า เพราะว่าตลอดช่วงเวลาที่ข้าพเจ้าอาสาเข้ารับใช้สิงคโปร์ ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นว่าการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของสองดินแดนคือมลายูกับสิงคโปร์นั้นเป็นธรรมชาติที่จะอยู่รอดและเจริญมั่งคั่งร่วมกัน แต่บัดนี้ข้าพเจ้าลี กวน ยิว นายกรัฐมนตรีแห่งสิงคโปร์ ขอประกาศในฐานะของประชาชนและรัฐบาลแห่งสิงคโปร์ว่า นับจากวันนี้ วันที่เก้าของเดือนสิงหาคม ปีหนึ่งพันเก้าร้อยหกสิบห้า สิงคโปร์จะเป็นชาติอธิปไตยแบบประชาธิปไตยและรัฐอิสระ ตั้งขึ้นมาอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพและความเป็นธรรม และจะบรรลุถึงความอยู่ดีกินดีและความสุขของประชาชนในสังคมที่มีความเท่าเทียมกันและยุติธรรมที่สุด"
เรื่องแรกที่ลี กวน ยิวทำเมื่อสิงคโปร์ต้องยืนหยัดด้วยตนเองในฐานะประเทศเอกราชคือเรื่องความมั่นคง โดยสิงคโปร์ตรากฎหมายเกณฑ์ทหารให้ชายอายุ 18 ปีทุกคนเข้ารับการฝึกทหาร ขอความร่วมมือจากอังกฤษในการจัดหากองกำลังทหารกูรข่า (ทหารกูรข่าเป็นชาวเนปาลที่ได้ทำหน้าที่เป็นกำลังรบสำคัญของกองทัพอังกฤษมากว่า 200 ปีแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นทหารที่ดีที่สุดในโลกชาติหนึ่งทีเดียว) มาเป็นกำลังสำรองพิเศษ
ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ ลี กวน ยิวใช้นโยบาย "ปิดประเทศสิงคโปร์" สร้างท่าเรือใหม่ ยกเลิกภาษีนำเข้าส่งออกทั้งหมด เก็บแต่ภาษีธุรกิจและภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราต่ำ อนุญาตให้ชาวต่างชาติมาลงทุนได้โดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อให้มีการจ้างงานสำหรับชาวสิงคโปร์ และห้ามมีสหภาพแรงงาน (เพื่อเอาใจนายจ้างต่างชาติ) มีการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ อย่างเร่งรีบ เริ่มจากถนน ทางรถไฟที่เชื่อมเข้ากับรัฐยะโฮร์ของมาเลเซีย สนามบินชางงี เร่งระดมพลังทางเศรษฐกิจผ่านธนาคารพาณิชย์ด้วยความเชี่ยวชาญที่มีมาตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคมอังกฤษ ผสมผสานกับสายสัมพันธ์ของชนชาติจีนพยายามแข่งขันกับฮ่องกงในการเป็นแหล่งของนักธุรกิจตะวันตก ที่ใช้สิงคโปร์เป็นฐานในการขยายตลาดเข้าไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลี กวน ยิวสร้างสรรค์กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติในนามเทมาเส็ก (Temasek) โดยนำเงินทุนของสิงคโปร์ไปลงทุนในประเทศและบริษัทธุรกิจต่างๆ ที่มีอนาคตทั่วโลก ทั้งการสื่อสารโทรคมนาคม พลังงาน อุตสาหกรรม และการเงิน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานและเพิ่มความมั่งคั่งให้แก่ชาติ อย่างสูงสุดโดยไม่ต้องพึ่งพาเพียงภาษีจากในประเทศ
การกำจัดคอร์รัปชั่นถือเป็นงานชิ้นโบแดงของนายลี กวน ยิว เพราะสิงคโปร์เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นและมาเฟีย อิทธิพลมืด อั้งยี่ และการแบ่งเขตอำนาจของคนจีนกลุ่มต่างๆ สำหรับลี กวน ยิวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นลูกน้องเก่า พี่เขย น้องเมีย หลาน ญาติของตัวเอง ลี กวน ยิวไม่เคยไว้หน้าในการเอาผิดฐานคอร์รัปชั่น
การบังคับใช้กฎหมายของสิงคโปร์นั้นเข้มแข็งเท่าเทียม คนรวยกับคนจนก็ได้รับโทษโดยถ้วนหน้าเสมอกัน กฎหมายของสิงคโปร์รุนแรงเด็ดขาด ตำรวจสิงคโปร์ได้รับการฝึกอย่างเข้มงวด และหน่วยปฏิบัติการพิเศษกูรข่าของสิงคโปร์ได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในหน่วยงานรักษาความปลอดภัยที่ดีที่สุดในโลก ส่วนครอบครัวของนายลี กวน ยิวก็มีความเป็นอยู่อย่างมาตรฐานเหมือนชาวสิงคโปร์ที่มีงานมีรายได้สูงทั่วไป ไม่สมถะจนเกินไปจนเหมือนการเสแสร้งเพื่อสร้างภาพ และไม่อวดความร่ำรวย ไม่มีการสร้างลัทธิบูชาตัวผู้นำ ไม่ต้องมีภาพเชิดชูตามบ้าน ไม่ต้องให้คนอื่นเขียนโฆษณาความดีของตนเอง ใช้ความเจริญของประเทศเป็นเครื่องพิสูจน์
เมื่อนายลี กวน ยิวพ้นตำแหน่งเกษียณตัวเองไป ก็อยู่อย่างเงียบสงบ ไม่ออกหน้าแทรกแซง ปล่อยให้คนรุ่นหลังทำงานต่อเนื่อง
แม้ว่านายลี กวน ยิวจะใช้วิธีการเผด็จการในการปกครองประเทศสิงคโปร์ แต่เขาก็ไม่ได้เคยเสแสร้งว่าเขาเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่อย่างน้อยที่สุด นายลี กวน ยิวก็ชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง
(ที่มา: มติชนรายวัน 1 เมษายน 2558)