วันนี้ (1 เม.ย.) ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ ให้ยกเลิกการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับเขตพื้นที่การศึกษา หรือ ลาส (Local Assessment System : LAS) ในระดับชั้นที่ไม่ได้สอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต คือ ป.2 ,ป.3, ม.4 และ ม.5 นั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)เห็นด้วยและแนวคิดจะยกเลิกอยู่แล้ว ซึ่งวัตถุประสงค์ของการจัดสอบลาส เพราะต้องการให้มีข้อมูลเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในเขตพื้นที่ฯ แต่กลับทำให้โรงเรียนไปจริงจังกับการสอบลาสมากเกินไป จนกลายเป็นภาระของเด็ก ที่ต้องสอบมากขึ้น คือ สอบปลายภาคของโรงเรียนแล้วก็ต้องมาสอบลาสอีก ขณะเดียวกัน การสอบลาส ก็ไปซ้ำซ้อนกับการสอบโอเน็ตด้วย ดังนั้น จึงเห็นด้วยว่าควรยกเลิกไป
" เร็วๆนี้ สพฐ.จะประกาศคะแนนผลการทดสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ เอ็นที ในชั้น ป.3 และจะเร่งส่งผลไปยังเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้โรงเรียนนำข้อมูลนักเรียนรายบุคคลไปใช้ในการพัฒนานักเรียน " ดร.กมล กล่าวและว่า นอกจากนี้จะมีการปรับโครงสร้างเวลาเรียน ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จากเดิมที่โครงสร้างหลักสูตรจะกำหนดชัดเจนว่า ต้องเรียนเฉลี่ยวิชาละกี่ชั่วโมงต่อปี ก็จะไม่กำหนดเวลาเรียนในแต่ละวิชา แต่จะเน้น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และสังคมศึกษา เป็นหลัก เพราะฉะนั้นบางปีเด็กอาจจะเรียนในบางวิชาน้อยเนื่องจากไปเน้นวิชาอื่น
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่ รมว.ศึกษาธิการ มอบให้ สพฐ.หาแนวทางลดกิจกรรมนักเรียน ให้เหลือเพียงปีละ 10 % ของเวลาเรียนทั้งหมดที่มีปีละ 200 วัน หรือ เท่ากับ 20 วัน เพราะปัจจุบันพบว่า นักเรียนต้องทำกิจกรรมมากถึง 84 วัน นั้น วันที่ 9 เมษายนนี้ ตนจะเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่มีการจัดกิจกรรมให้นักเรียน มาประชุมร่วมกัน ซึ่งแนวทางการลดกิจกรรมลงนั้น อาจจะใช้วีธีควบรวมกิจกรรมที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น กิจกรรมเกี่ยวกับส่งเสริมสุขภาพ กิจกรรมลดโลกร้อน มาร่วมกันจัดกิจกรรมใหม่ และเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ในช่วงเดือนที่นักเรียนสอบนั้น จะไม่ให้มีการทำกิจกรรมใดๆทั้งสิ้น ทั้งนี้ สพฐ. จะไม่ไปปรับลดกิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะความสามารถพิเศษ เช่น ดนตรี กีฬา ของนักเรียนลง และเมื่อได้แนวทางชัดเจนแล้ว สพฐ.จะเสนอ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความเห็นชอบต่อไป.
ที่มา เดลินิวส์ วันพุธ 1 เมษายน 2558