เพชร เหมือนพันธุ์
ในบทความของ ดร.ดำรงค์ ชลสุข ใน น.ส.พ.มติชน ฉบับวันที่ 10-11 มีนาคม 2558 หน้า 21 ที่ระบุว่า "การศึกษาปฐมวัยใครว่าไปไม่ถึงดวงดาว" ขอร่วมยืนยันว่าถึงดวงดาวแน่นอนครับ การศึกษาปฐมวัยของไทยได้พัฒนามากว่า 100 ปี จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย, โรงเรียนวังหลัง ซึ่งนับเป็นโรงเรียนอนุบาลแห่งแรกที่เปิดสอนแผนกอนุบาลเมื่อปี 2454 ซึ่งเป็นเวลาถึง 104 ปี และโรงเรียนอนุบาลแห่งที่ 2 คือโรงเรียนราชินี เปิดสอนเมื่อปี 2466 จัดเป็นโรงเรียนแห่งแรกที่ดำเนินการโดยคนไทย มีอายุถึงวันนี้นับเวลาได้ถึง 92 ปี
ปรัชญาการศึกษาของเด็กปฐมวัยในสมัยนั้นคือปรัชญาของท่าน Friedrich Wilhelm Froebel ซึ่งถือเป็นบิดาของการศึกษาในระดับอนุบาล (ลูกศิษย์ของ Johann Heinrich Pestalozzi) วางหลักไว้ว่า สอนเด็กเล็กให้สามารถช่วยตนเองได้ เช่น ล้างหน้า แปรงฟัน ออกกำลังกาย การพักผ่อน การฟ้อนรำ ฝึกให้เด็กมีความพร้อมด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา เตรียมความพร้อมให้เด็กเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้
ผู้เขียนได้เคยติดตามไปดูกลุ่มครูปฐมวัยในเขตพื้นที่การศึกษาที่ตนเองเคยรับผิดชอบ ดูการสอนเด็กปฐมวัยที่โรงเรียน และได้ไปดูการจัดการสอนปฐมวัยที่สิงคโปร์ ก็แอบภูมิใจว่าครูไทยที่จัดสอนเด็กปฐมวัยของเราได้ถูกต้องได้ถูกทางแล้ว
ท่าน Friedrich Wilhelm Froebel มีความเชื่อว่าเด็กมีความดีงาม มีความสามารถมาตั้งแต่กำเนิด
เด็กปฐมวัยควรจะได้เรียนรู้จากการเล่นด้วยการแสดงออกอย่างอิสระ ควรได้รับประสบการณ์ทั้งจากภายในและภายนอกชั้นเรียน การเรียนการสอนให้เน้นการเล่นอย่างมีความหมาย สอดคล้องกับระดับอายุและวัยของเด็ก เรียนรู้จากการเล่นชุดอุปกรณ์ ครูก็จะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จึงจะทำให้พัฒนาการของเด็กมีความสมบูรณ์
การศึกษาไทยที่ล้มเหลวเป็นปัญหาจริงๆ และน่าเป็นห่วงที่สุดคือ การศึกษาในระดับชั้น ป.1-4 และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1-3 ที่ทำให้ระดับที่สูงขึ้นไปป่วยตามไปด้วย เหมือนคนป่วยที่มีอาการป่วยที่เกิดจากแผลติดเชื้อเรื้อรังหน้าแข้งและต้นขา การรักษาอาการป่วยจึงต้องรักษาแผลที่หน้าแข้งและต้นขาให้หายขาดให้ได้ ไม่ใช่ไปรักษาทั้งร่างกาย
แก่นของปรัชญาการศึกษาจริงๆ ในระดับ ป.1-4 นี้ คือสอนให้เด็กอ่านหนังสือออก อ่านคล่อง สนุกกับการอ่าน มีนิสัยรักการอ่าน สอนคณิตศาสตร์ให้เด็กสามารถบวก ลบ คูณ หารได้เก่ง ให้เด็กรักตัวเลข รักการคำนวณ มีทักษะทางคณิตศาสตร์ สามารถเชื่อมโยงคณิตศาสตร์มาใช้ในชีวิตได้จริง เมื่อพื้นฐานทางภาษาดีและพื้นฐานทางคณิตศาสตร์เก่งแล้ว การเรียนในระดับที่สูงขึ้นใน วิชาอื่นๆ เด็กก็จะเก่งตามไปด้วย
ปรัชญาที่ใช้ในระดับ ป.1-4 นี้ คือการสร้างความรู้ความสามารถขั้นพื้นฐานในวิชาแกนให้แกร่ง จนสามารถใช้เป็นเครื่องมือค้นคว้า การอ่าน การเขียนหนังสือ และใช้วิชาคณิตศาสตร์ได้คล่องตัว ซึ่งเป็นต้นทางแห่งความสำเร็จ ก็เหมือนกับเราสอนให้เด็กเดินได้เสียก่อน แล้วจึงจะไปสอนวิ่งหรือสอนให้กระโดดต่อไป
ครูที่มีทักษะชำนาญในการสอนอ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็นจะไม่ใช่ครูทุกคน ผู้บริหารจะดูออก ส่วนมากจะเป็นครูที่มีอายุมาก มีประสบการณ์ ครูบรรจุใหม่บางคนที่เรียนจบมาด้านการศึกษาปฐมวัยโดยตรง ก็จะเข้าใจพัฒนาการของเด็กในวัยนี้ แต่อาจมีโรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งที่โชคร้ายไม่มีครูชำนาญการในการสอนการอ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็นเลย ผู้บริหารต้องหาทางแก้ปัญหา หากปล่อยให้เด็กโง่ เลื่อนชั้นขึ้นไป จะเป็นปัญหาสะสม เด็กที่สอบตกสะสมจะเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งในโรงเรียนในเมืองและต่างจังหวัด
ปรัชญาในชั้น ป.5-6 เด็กในวัยนี้เป็นรอยต่อระหว่างวัยเด็กตอนปลายกับวัยรุ่นตอนต้น เด็กจะเริ่มเหินห่างจากพ่อแม่ แยกตัวเข้ากลุ่มเด็ก อยากรู้อยากเห็น อยากเป็นผู้ใหญ่ อยากรับผิดชอบ อยากเป็นเจ้าของ อยากเป็นผู้นำ อยากเป็นผู้ปกป้องดูแลรุ่นน้อง โรงเรียนต้องสอนผ่านกิจกรรมให้เด็กได้ลงมือทำงานจริง แบ่งหน้าที่ให้รับผิดชอบ มอบหมายหน้าที่ให้ทำ ให้มีตำแหน่ง ให้เป็นคณะกรรมการนักเรียน ให้รู้จักแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบในโรงเรียน ให้ช่วยครู ให้ช่วยงานของส่วนร่วมและงานสาธารณะ ทางโรงเรียนจะต้องมีกิจกรรมที่จะฝึกเด็กให้เป็นผู้นำและรับผิดชอบ
ในสิงคโปร์เด็กชั้นประถมปลาย (Grade 6-7) จะจัดกิจกรรมที่ให้ได้แสดงความเป็นหัวหน้า แสดงความเป็นผู้นำ เด็กวัยนี้จะแยกเรียนตามกลุ่มภาษาแม่ของตนเอง จะเน้นการจัดการเรียนรู้ตามความถนัดของแต่ละบุคคล เน้นความเป็นปัจเจกชนเป็นพิเศษ ครูจะรู้จักเด็กแต่ละคนอย่างดี รู้ว่าเด็กแต่ละคนมีความสามารถ มีความถนัดเฉพาะตัวในด้านใด เด็กก็ได้ตระหนักรู้ว่าตนเองมีความถนัดมีความสามารถในด้านใด เด็กจะมีความภาคภูมิใจในตนเองและเห็นคุณค่าของตนเอง
ในญี่ปุ่นเด็กจะเรียนเป็นกลุ่ม ชั้น ป.5-6 เด็กในกลุ่มจะควบคุมการเรียนกันเอง ถ้าใครในกลุ่มคะแนนตกต่ำจะต้องได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนในกลุ่มและกดดันให้ขยันเพิ่มขึ้น วัฒนธรรมกลุ่มมีความเข้มแข็งมาก ครูจะมอบหมายให้นักเรียนในระดับนี้มีหน้าที่ดูแลความสะอาดของโรงเรียน ดูแลความปลอดภัยให้กับรุ่นน้อง ดูแลไม้ดอกไม้ประดับ ดูแลการประชาสัมพันธ์ของโรงเรียน ประกาศข่าวประกาศของหาย เป็นต้น การจัดการศึกษาในระดับนี้จึงเป็นการสร้างภาวะความเป็นผู้ใหญ่ รับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ให้รู้ว่าตนเองเก่งอะไร ถนัดอะไร อยากเรียนวิชาอะไร
การศึกษาในระดับชั้น ม.1-3 เด็กอายุอยู่ระหว่าง 13-15 ปี กำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น มีกำลังวังชาที่แข็งแรง ทำงานที่ใช้กำลังได้ใกล้เคียงผู้ใหญ่ ทำงานคู่กับพ่อแม่ได้แล้ว โบราณจะโกนจุกให้เด็กเมื่อมีอายุถึง 13 ปี แปลว่าเด็กต้องได้เรียนรู้โลกของการประกอบอาชีพ แก่นของปรัชญาที่ใช้ในวัยนี้คือปรัชญาของ John Dewy: Learning by doing เด็กต้องเรียนรู้ด้วยการกระทำ "ครูไม่สามารถอธิบายความเผ็ดของพริกให้เด็กเข้าใจได้ แต่ถ้าให้เด็กได้กัดพริกแล้วเคี้ยวดูก็จะรู้รสได้ทันที" ปัญหาการศึกษาไทยที่สาหัสสากรรจ์ จุดที่สองคือในระดับ ม.ต้นนี้ เพราะผู้เรียนไม่ได้รับความสนใจจากครูเท่าที่ควร ครูมุ่งความสนใจไปที่ชั้นตัวประโยค คือมัธยมศึกษาตอนปลาย เด็ก ม.ต้นจึงถูกครูทิ้ง การเรียนการสอนก็ไม่มีปรัชญา ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน เรียนๆ ไปอย่างนั้นเอง เด็กจึงพลาดโอกาสที่จะมุ่งสู่โลกของอาชีพหรือโลกของวิชาการในวัยอันควร
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ผู้เขียนและคณะนักศึกษาระดับ ป.เอก ไปเยี่ยมชมโรงเรียนมัธยมศึกษาในกรุงโซล เกาหลีใต้ ชื่อโรงเรียนซัมปิยองมิดเดิลสคูล (Sumyeong Middle School) เปิดจัดสอนเฉพาะระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มีนักเรียนประมาณ 2,000 คน วิทยากรได้นำเสนอ Power Point เล่าเรื่องการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้คณะของพวกเราฟัง ฉายภาพให้ดู พบว่าเด็กที่นี่ใช้สื่อ IT: Information Technology ที่ทันสมัยเป็นทุกคน เด็กนักเรียนมีไอแพด ไอโฟน โน้ตบุ๊กส่วนตัว สามารถ Search หาข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา ครูสอนใช้วิธีสอน แบบใหม่ เรียกว่าการสอน 4 ขั้นตอน (ผู้เขียนตั้งชื่อเอง) คือมี 4 ขั้นตอน (4 Steps Teaching) ได้แก่ Step 1) ครูมอบหมายให้นักเรียนไปเรียนบทเรียนมาจากบ้าน Step 2) ในนักเรียนแต่ละคนนำบทเรียนที่เรียนมาจากบ้านเสนอต่อเพื่อนในชั้น (Presentation) Step 3) ให้นักเรียนร่วมชั้นและครูวิพากษ์บทเรียนที่นักเรียนแต่ละคนนำเสนอ Step 4) ให้ผู้เรียนสรุปผลการวิพากษ์และถอดบทเรียนของตนเอง สรุปเป็นองค์ความรู้ในการเรียน เหมือนการสอนแบบ Flip Classroom ในอเมริกา แปลว่าเด็กได้ศึกษา ค้นคว้ามาก่อนเข้าชั้นเรียน เด็กจะออกแบบนำเสนอของตนเอง ตอนสรุปเด็กได้ร่วมวิพากษ์บทเรียนของตนได้คิดวิเคราะห์ และตอนสรุปเด็กได้ถอดความรู้สรุปบทเรียน (KM: Knowledge Management) จัดเป็นองค์ความรู้จากบทเรียน
แต่ที่เหนือกว่านั้นก็คือ ในหนึ่งภาคเรียน นักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นทุกคนจะได้ไปศึกษาดูงานในสถานประกอบการ ทั้งที่ออกไปและเชิญวิทยากรเข้ามา จำนวนไม่น้อยกว่า 20 ครั้ง เด็กจะได้สัมผัสการประกอบอาชีพจริงทุกสัปดาห์ ม.1-3 มี 6 ภาคเรียน เด็กได้ออกไปดูอาชีพถึงประมาณ 120 ครั้ง
ครูวิทยากรเขาสรุปว่าเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นของเกาหลีต้องสอนให้เขารู้จัก "ฝัน" ไปถึงโลกของการประกอบอาชีพ เขาใช้คำว่า Dream, Dream, Dream ตลอดทั้ง 3 ปีการศึกษา หรือ 6 ภาคเรียน เด็กจะได้เรียนรู้โลกของการประกอบอาชีพถึง 120 ครั้ง เด็กเกาหลีจึงรู้จักเลือกประกอบอาชีพตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว
การศึกษาของสิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น มีปรัชญาคล้ายกันคือ เด็กในระดับ ม.ต้น เขาจะรู้แล้วว่าเขาจะประกอบอาชีพอะไร เด็กเขารู้จักฝันไปถึงการประกอบอาชีพในอนาคตแล้ว แต่เด็กไทยของเราไม่รู้จักฝัน ยังไม่เคยฝัน ยังไม่รู้ว่าจะฝันอย่างไร จนไปถึงชั้นจบปริญญาตรี เป็นเพราะอะไร คำตอบคือปรัชญาการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นของเราไม่มีปรัชญาที่ชัดเจน ไทยไม่ได้ยึดปรัชญามาตั้งแต่ชั้นปฐมวัยจนถึงระดับมหาวิทยาลัย เด็กก็ไหลตามกันไปเรื่อยๆ แบบไม่มีเป้าหมาย มีแต่ความสูญเปล่า เหมือนชาวบ้านเดินเข้าป่าไปเก็บผักป่า แต่ไม่รู้ว่าผักคืออะไร แม้จะเหยียบย่ำไปบนผักก็ไม่รู้จักผัก จึงถือตะกร้าเปล่ากลับบ้าน
ในระดับ ม.ปลาย เด็กต่างชาติเขารู้แล้วว่าจะประกอบอาชีพอะไร เด็กจึงต้องแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อให้ได้เข้าไปสู่สถาบันที่เขาปรารถนา เด็กไทยในสมัยก่อนก็เหมือนกัน สมัยเปิดเรียนชั้น ม.7-8 เด็กไทยสมัยนั้นก็เรียนแบบเอาเป็นเอาตาย ใครไม่เก่งจริงอย่ามาเรียนต่อชั้น ม.7 และ ม.8 เด็กส่วนมากจำนวนหนึ่งจึงหันไปเรียนสายอาชีพแทน
ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาจะต้องยึดปรัชญา จะต้องปฏิรูปทั้งระบบ "คือ ปฏิรูปหลักสูตร ครู วิธีสอน วิธีเรียน วิธีวัดและประเมินผล"
การปฏิรูปการศึกษาจะต้องยึดปรัชญา จะต้องปฏิรูปทั้งระบบ คือ ปฏิรูปหลักสูตร ครู วิธีสอน วิธีเรียน วิธีวัดและประเมินผล
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 31 มี.ค. 2558 (กรอบบ่าย)