พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ให้มีการกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียน จากเดิมที่กำหนดไว้ในระดับอนุบาลจำนวน 30 คนต่อห้อง ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 40 คนต่อห้อง หลังพิจารณาที่ประชุมมีมติให้คงจำนวนนักเรียนต่อห้องในระดับอนุบาลและมัธยมศึกษาไว้เท่าเดิม แต่ให้ลดในระดับประถมศึกษาลงเหลือ 30 คนต่อห้อง เพราะเห็นว่าเป็นช่วงชั้นที่มีความจำเป็นที่ครูต้องใกล้ชิดนักเรียน จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดำเนินการปรับลดขนาดของห้องเรียนให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยเฉพาะในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง ทั้งนี้ ศธ.เอาจริงต้องเปลี่ยนแปลงให้ได้ภายในระยะเวลา 5 ปี พร้อมทั้งให้เร่งปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนอื่นๆให้มีคุณภาพทัดเทียมหรือใกล้เคียงกัน เพื่อรองรับการกระจายเด็ก ซึ่งถือเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่ สพฐ.ต้องดำเนินการ
รมว.ศึกษาธิการกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังพิจารณาข้อเสนอให้มีการยกเลิกการจัดสอบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เอ็นที) ของนักเรียนชั้น ป.3 และการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับเขตพื้นที่ (ลาส) สำหรับนักเรียนในระดับชั้นที่ไม่ได้มีการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ซึ่งหลังถกเถียงอย่างกว้างขวางที่ประชุมเห็นว่าควรคงการสอบ NT เด็ก ป.3 ไว้เพราะมีความจำเป็น แต่ให้ยกเลิกการสอบลาสตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป นอกจากนี้ เห็นว่า สพฐ.ควรปรับลดการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนของเด็กที่ซ้ำซ้อนลง เหลือไม่เกินร้อยละ 10 ของเวลาเรียนหรือไม่เกิน 20 วันต่อปีการศึกษา เพื่อให้เด็กมีเวลาเรียนมากขึ้น โดยให้ สพฐ.สั่งการไปยังเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนทั่วประเทศต่อไป
ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 27 มีนาคม 2558