ชัดเจนแล้วว่าซูเปอร์บอร์ดการศึกษา ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะนั่งเป็นประธานเองนั้น หมายถึงคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา ซึ่งท่านได้ลงนามแต่งตั้งไปเมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา
ซูเปอร์บอร์ด ประกอบด้วย 9 อรหันต์ ดังนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นกรรมการ
และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นเลขานุการ
บทบาทหน้าที่ ซูเปอร์บอร์ดมีหน้าที่เสนอแนะนโยบาย แนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษา ยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตามนโยบายรัฐบาลและแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการและแนวทางการตัดสินใจเชิงรุก เพื่อให้การขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลและแผนพัฒนาเกิดผลเป็นรูปธรรม กำกับ ดูแล ติดตาม ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายและการพัฒนาการศึกษา
การเชิญรัฐมนตรีและผู้แทนหน่วยงาน ตลอดจนแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานตามความเหมาะสม
ซูเปอร์บอร์ด ได้ประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกฯ นั่งหัวโต๊ะ พร้อมมอบนโยบายให้คณะกรรมการดังกล่าว ศึกษารูปแบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ เพื่อนำมาประยุกต์กับระบบการศึกษาไทย
พร้อมมอบหมายให้เลขาธิการ สศช. ร่วมกับเลขาธิการสภาการศึกษาจัดทำวิสัยทัศน์ทางการศึกษา ปี 2015-2020 ให้มีความชัดเจน และเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดภายใต้ประเด็น 8 ประการ ดังนี้
1. นโยบายการศึกษา
2. ระบบการศึกษาและการบริหารการศึกษา
3. โครงสร้างทางการศึกษา
4. การมีส่วนร่วมในการบริหารการศึกษา
5. ครูและบุคลากรทางการศึกษา
6. การกำกับและการประเมินผล
7. งบประมาณและการช่วยเหลือทางการเงิน
และ 8. ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้การศึกษาของประเทศไทยเป็นการศึกษาที่มีความสุข นักเรียนเรียนหนังสืออย่างมีความสุข ครูสอนหนังสืออย่างมีความสุข ผู้ปกครองก็มีความสุข และลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ทำให้เรียนจบมาแล้วมีงานทำ ส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิต ที่ดีต่อไปในอนาคต
รวมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ช่วงปิดภาคเรียนการศึกษา และมีรายได้ตอบแทน พร้อมกับให้นักเรียนได้เรียนรู้กฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ให้นักเรียนมีความรู้ที่ถูกต้อง
พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานแบบเร่งด่วนดังนี้
1. อบรมเพื่อต่อยอดอาชีพเดิมให้มีความรู้เพิ่มขึ้น ทันสมัยมากขึ้น
2. อบรมอาชีพที่สองสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่มีอาชีพหลักอยู่แล้ว เช่น กลุ่มเกษตรกร เพื่อเป็นอาชีพสำรองภายหลังการทำเกษตร
และ 3. อบรมเพื่อรองรับโครงการใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ระบบโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้ง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. เป็นกรรมการเพิ่มเติมในคณะกรรมการนโยบายฯ
พร้อมทั้งเห็นชอบให้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการ จำนวน 2 ราย คือ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และ นายวิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษา TDRI
อย่างไรก็ตาม ซูเปอร์บอร์ดชุดนี้ทำหน้าที่ชั่วคราวเท่านั้น ด้วยว่าทันทีที่ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ หรือร่างกฎหมายจัดตั้งซูเปอร์บอร์ด ของ สปช. มีผลบังคับใช้ ก็จะส่งผลให้ซูเปอร์บอร์ดชุดนี้ถูกยกเลิกไปทันที ดังที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ระบุว่า "ซูเปอร์บอร์ดตามร่างกฎหมายคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ จะไม่ซ้ำซ้อนกับซูเปอร์บอร์ดที่นายกฯ ตั้งขึ้น เมื่อซูเปอร์ตามกฎหมายเกิดขึ้นแล้ว ซูเปอร์บอร์ดชุดที่นายกฯ ตั้ง ก็ต้องยกเลิกไป"
สำหรับซูเปอร์บอร์ดที่จะเกิดขึ้นตามกฎหมาย สปช. นั้น เรียกว่า "คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ" ซึ่ง สปช. เพิ่งให้ความเห็นชอบในหลักการตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สปช. เสนอ จากนี้จะปรับแก้รายละเอียดก่อนนำเข้าที่ประชุม สนช. ในวันที่ 7 เมษายนนี้
ซูเปอร์บอร์ดตามร่างกฎหมาย สปช. มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่ดูแลงานด้านการศึกษาเชิงนโยบาย บริหารจัดการงบประมาณด้านการศึกษา ปรับย้ายข้าราชการระดับสูงของ ศธ.
รวมถึงทำหน้าที่ตรวจสอบและประสานงานด้านการศึกษาของหน่วยงานต่างๆ
นายประเสริฐ ชิตพงศ์ รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สปช. บอกว่า ต่อไปการจัดการศึกษาจะไม่ใช่หน้าที่ของ ศธ. ฝ่ายเดียว แต่ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาได้
ขณะที่ ศธ. ต่อไปจะต้องปรับบทบาท เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดการศึกษาให้หน่วยงานต่างๆ มากกว่าที่จะไปทำหน้าที่จัดการศึกษาเอง
การจัดตั้งซูเปอร์บอร์ด ถือเป็นงานด่วนเพื่อให้การพัฒนาการศึกษาขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว โดยในส่วนของการปฏิรูปเชิงโครงสร้างนั้น กมธ.ปฏิรูปการศึกษาฯ เห็นว่า ยังไม่ควรแตะ เพราะหากมีการปรับโครงสร้าง จะนำมาซึ่งบทบาท และภารกิจใหม่ ซึ่งเมื่อต่อไปเรามีซูเปอร์บอร์ด บทบาทของ ศธ. จะค่อยๆ ปรับเป็นผู้ประสานงาน อำนวยความสะดวกในการจัดการศึกษา
ขณะที่อำนาจในการบริหารและจัดการศึกษาจริงๆ จะตกไปอยู่ที่สถานศึกษาเป็นหลัก อย่างเดียวที่ กมธ.ปฏิรูปการศึกษาฯ เสนอเกี่ยวกับการปรับโครงสร้าง ศธ. คือ โอนย้ายสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ไปขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เลขาธิการให้กับซูเปอร์บอร์ด
อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าว ดูท่าจะไม่ผ่านโดยง่ายแล้ว เนื่องจาก ศธ. ไม่เห็นด้วยกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ดูจะล้วงลูกมากเกินควร โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงของ ศธ. รวมถึงการตั้งงบประมาณการศึกษา
โดย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ศธ. ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะยังมีข้อทักท้วงอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะในเรื่ององค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ เพราะกฎหมายกำหนดอำนาจซูเปอร์บอร์ดไว้ค่อนข้างมากพอควร
อาทิ อำนาจในการปรับย้ายข้าราชการระดับสูงของ ศธ. อำนาจในการให้ความเห็นชอบในตั้งงบประมาณการศึกษา ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
ดังนั้น จึงขอให้กลับไปทบทวนให้เกิดความรอบคอบ โดยใช้อำนาจหน้าที่เป็นตัวตั้ง และค่อยมาพิจารณาองค์ประกอบ
สำหรับองค์ประกอบของซูเปอร์บอร์ดที่ สปช. เสนอ จะมีนายกฯ เป็นประธาน หรือ นายกฯ อาจมอบให้คนใดคนหนึ่งเป็นประธาน และมีกรรมการประมาณ 20-30 คน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนโดยตำแหน่งจากหน่วยงานต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ
เหตุผลที่ ศธ. นำเข้ามาพิจารณาแม้ว่าร่างกฎหมายจะผ่านความเห็นชอบจาก สปช. แล้ว ก็เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการอำนวยการ และ สปช. ทำงานด้านปฏิรูปการศึกษาควบคู่กันมาตลอด ดังนั้น การนำร่างดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ก็เพื่อรับฟังความคิดเห็น หากประเด็นใดยังไม่ถูกต้องและต้องปรับแก้ไข ก็จะได้ดำเนินการให้สอดคล้องกัน ซึ่งในคณะกรรมการอำนวยการฯ ก็มีกรรมการบางคน อยู่ใน สปช. และ สนช. ด้วย
นางสิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ ในคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ศธ. กล่าวว่า การตั้งซูเปอร์บอร์ด เพื่อต้องการให้แยกฝ่ายนโยบายออกจากฝ่ายบริหาร ฐานะของซูเปอร์บอร์ด จึงควรเป็นหน่วยงานอิสระที่ไม่เป็นส่วนราชการ เพื่อปลอดการเมือง
ถือเป็นความพยายามที่จะทำให้การศึกษาปลอดจากการเมือง แต่จะทำสำเร็จหรือไม่คงต้องฝากความหวังไว้ที่นายกรัฐมนตรี ตลอดจน สปช. และ สนช. ที่จะดีไซน์ซูเปอร์บอร์ดชุดนี้ แต่ทั้งนี้ สังคมกำลังคาดหวังว่าเมื่อนายกฯ นั่งประธานเอง การขับเคลื่อนการศึกษาก็ควรพัฒนาอย่างก้าวกระโดด
ไม่ใช่ถอยหลังเข้าคลอง
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 มี.ค. - 2 เม.ย. 2558