“ณรงค์”เผยคณะกรรมการอำนายการปฎิรูปการศึกษาฯ ปรับเกณฑ์กำหนดขนาดห้องเรียนใหม่ ระดับปฐมวัย-ประถมศึกษา ไม่เกิน 30 คนต่อห้อง และมัธยมศึกษาไม่เกิน 40 คนต่อห้อง สั่ง สพฐ.ทำให้ได้ใน 5 ปี พร้อมยกเลิกสอบลาส และลดกิจกรรมเด็ก-ครู
วันนี้ (26 มี.ค.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาเมื่อเร็วๆนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ปรับเกณฑ์กำหนดขนาดห้องเรียนใหม่ เพื่อลดขนาดห้องเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานลง ดังนี้ ระดับปฐมวัยและประถมศึกษามีนักเรียนไม่เกิน 30 คนต่อห้องเรียน และระดับมัธยมศึกษา มีนักเรียนไม่เกิน 40 คนต่อห้องเรียน ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปีนับตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 ซึ่งการกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนให้น้อยลงนั้น จะส่งผลให้ครูเอาใจใส่แก่นักเรียนมากขึ้น และลดความเครียดในการจัดการเรียนการสอนของครู
“ มาตรการกำหนดขนาดห้องเรียนใหม่จะยังไม่ดำเนินการในตอนนี้ เพราะต้องแจ้งให้โรงเรียนเตรียมความพร้อมก่อน ดังนั้น สิ่งที่ สพฐ.ต้องไปดำเนินการ คือ การปรับปรุงคุณภาพโรงเรียนในพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่รอบโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงให้มีศักยภาพสูงขึ้น ผมเข้าใจหัวอกพ่อแม่ที่ต้องการให้บุตรหลานของตนเองได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่ดี มีชื่อเสียง แต่หาก สพฐ.สามารถยกระดับโรงเรียนพื้นที่ใกล้เคียงให้มีคุณภาพ และเป็นที่ยอมรับเทียบเท่าโรงเรียนดัง ก็เชื่อว่าผู้ปกครองจะส่งเด็กเข้าเรียนในโรงเรียนเหล่านี้เช่นเดียวกัน” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้ยกเลิกการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับเขตพื้นที่การศึกษา หรือ ลาส สำหรับนักเรียนชั้นป.2,ป.4,ป.5,ม.1,ม.2และ ม.5 ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป เพราะที่ผ่านมาโรงเรียนก็จะมีการทดสอบในแต่ละช่วงชั้นอยู่แล้ว ดังนั้นหากยกเลิกการสอบลาส ไปก็จะทำให้ประหยัดงบประมาณและนักเรียนไม่เกิดความเครียดจากการประเมิน ขณะเดียวกันประชุมยังมีการพิจารณาให้ยกเลิกการจัดสอบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือเอ็นที สำหรับนักเรียนชั้น ป.3 ด้วย แต่ที่ประชุมเห็นว่าการสอบเอ็นทียังมีความจำเป็น เพราะเป็นการทดสอบว่าเด็กมีจุดอ่อนหรือจุดด้อยในวิชาใดบ้าง และควรจะปรับปรุงและพัฒนาในด้านใดบ้าง
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมให้ สพฐ.ไปปรับลดกิจกรรมนักเรียนลง เพราะปัจจุบันโรงเรียนต่างๆ มีกิจกรรมมากเกินไป ทำให้ครู และนักเรียนไม่มีเวลาอยู่ในห้องเรียน โดยที่ผ่านมานักเรียนและครู ต้องออกไปทำกิจกรรมต่างๆนอกห้องเรียนเฉลี่ยปีละ 84 วัน จากเวลาเรียนทั้งหมดประมาณ 200 วัน เท่ากับว่าเด็กใช้เวลาทำกิจกรรม ถึง 40% ขอเวลาเรียนทั้งหมด ซึ่งมากเกินไป ดังนั้น จะต้องไปปรับลดกิจกรรมต่างๆให้ เหลือไม่เกิน 10% หรือ ประมาณ 20 วันของเวลาเรียนทั้งหมด โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อบูรณาการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ และ เรื่องนี้ ศธ.จะประกาศเป็นนโยบาย โดยในปีการศึกษา 2558 กิจกรรมของนักเรียนจะต้องลงลดลงเห็นได้ชัด.
ที่มา เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี 26 มีนาคม 2558