นายกฯ แนะ มรภ. ปรับบทบาทผลิตบัณฑิตสาขาเทคโนโลยีและอาชีพมากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการแรงงาน โดยเฉพาะในพื้นที่ จากเดิมที่ผลิตบัณฑิตครูและด้านสังคม
นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามถึงการผลิตบัณฑิตของสถาบันอุดมศึกษาไทย โดยเห็นว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจะหันมาผลิตบัณฑิตด้านเทคโนโลยี และอาชีพให้มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน แทนที่จะผลิตในสาขาครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และมนุษย์ศาสตร์เท่านั้น ซึ่งตนชี้แจงไปว่า เรื่องดังกล่าวได้เสนอแนะไปยังประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) แล้วว่า ในอนาคต มรภ. ควรเปลี่ยนจากการสอนแค่สายสังคม เป็นการสอนด้านเทคโนโลยีที่ไม่ใช่เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ด้วย เช่น ด้านอิเล็กทรอนิกส์ ไอที และการแปรรูปอาหาร เพราะคิดว่าในอนาคตตลาดคงต้องการช่างเทคนิคเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งในส่วนของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ก็สามารถผลิตบัณฑิตตอบโจทย์ด้านอาชีพได้แล้ว โดยเฉพาะด้านที่ใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ เช่น ช่างยนต์ ช่างเชื่อม ช่างโลหะ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตสถาบันนอุดมศึกษาไทยจะมี 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นด้านวิชาการ และการวิจัย, กลุ่ม มทร. ที่เน้นสร้างนักปฏิบัติด้านอุตสาหกรรม และกลุ่ม มรภ. เน้นด้านเทคโนโลยีและอาชีพ เพื่อจังหวัดและท้องถิ่นของตนเอง
นายกฤษณพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังฝากถึงเรื่องการควบรวมระหว่าง มรภ.กาฬสินธุ์ และ มทร.ราชมงคลอีสาน วิทยาเขตกาฬสินธุ์ จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ว่า ควรรักษาตัวป้อนที่เข้าสู่ระบบอุดมศึกษาทั้งที่มาจากสายสามัญ และสายอาชีพด้วย เพราะเดิม มทร. จะเปิดรับนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ต่อปริญญาตรี ขณะที่ มรภ. รับนักศึกษาระดับชั้น ม.6 เพื่อต่อปริญญาตรี ซึ่งตัวป้อนทั้งสองสายมีความสำคัญ ไม่ใช่จะเน้นรับแต่เด็กสายสามัญอย่างเดียว
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 มีนาคม 2558