ศธ.ไฟเขียวอาชีวะเดินหน้า “ร้อยเอ็ดโมเดล” จับคู่เรียนสามัญ-อาชีพจบได้วุฒิ 2 ใบตั้งเป้ารุ่นแรกมีเด็กเรียน 2 หมื่นคนให้ สอศ.-สพฐ.เจียดงบปี 58 มาจ่ายท็อปอัปรายหัวให้เด็กที่มาร่วมโครงการก่อน แล้วขอจัดตั้งงบใหม่ในปีถัดไป พร้อมมอบ สอศ.เร่งจัดทำรายละเอียดเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ด้าน “ชัยพฤกษ์” ระบให้ท็อปอัป 60% จากรายหัวเด็กเรียนสายอาชีพพร้อมเตรียมจัดการเรียนการสอนใน 8 สาขาวิชา
วันนี้ (25 มี.ค.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ.ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้รายงานการดำเนินการโครงการ “ร้อยเอ็ดโมเดล” ซึ่งเป็นการจับคู่ระหว่างวิทยาลัยของ สอศ.และโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้เด็กมีความรู้ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ โดยเมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนจะได้วุฒิการศึกษา 2 ใบ คือ การศึกษาขั้นพื้นฐาน และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายของพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้นักเรียนที่เรียนสายสามัญมีความรู้ทางด้านอาชีพได้ด้วย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กตัดสินใจเมื่อเรียนจบว่าจะออกไปทำงานหรือจะเรียนต่อระดับอุดมศึกษา
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ สอศ.ดำเนินการโครงการดังกล่าวและขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ด้วย สำหรับปีการศึกษา 2557 เนื่องจากเพียงอีก 1 ภาคเรียนเท่านั้น จึงประมาณการว่าจะมีผู้เรียนสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการประมาณ จำนวน 2 หมื่นคน คาดต้องใช้งบประมาณ 67 ล้านบาทเพื่อเป็นเงินท็อปอัปในการจัดการศึกษาแต่ละสาขาซึ่งจะมีอัตราที่แตกต่างกันไป แต่ปีนี้จะใช้วิธีการเจียดจ่ายงบประมาณปี 2558 ของสอศ.และ สพฐ.มาดำเนินการก่อนและทำเรื่องเสนอขอจัดตั้งงบประมาณประจำปีในปีถัดไป อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้มอบให้ สอศ.ไปจัดทำรายละเอียดโครงการเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาด้วย
“ที่ต้องเสนอที่ประชุม ครม.ก็เพื่อให้ ครม.รับทราบว่ามีโครงการนี้และต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการแต่เพื่อไม่ให้เป็นภาระของรัฐบาลในปีนี้ ศธ.แก้ไขปัญหาด้วยการใช้งบประมาณของหน่วยงานต้นสังกัดก่อนดำเนินการไปก่อน แต่จะขอตั้งงบประมาณในปีงบประมาณถัดไป เพราะตั้งใจจะขยายผลโครงการต่อเนื่องโดยในปีการศึกษา 2559 จะขยายผลเพิ่มจำนวนผู้เรียนเป็น 3 หมื่นคนคาดต้องใช้งบประมาณ 112 ล้านบาท ”พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าให้เด็กได้เลือกเรียนตามความสนใจไม่มีการบังคับ
ด้าน นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า จุดเด่นของร้อยเอ็ดโมเดล คือการจัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคี โดยมีท้องถิ่นให้ความร่วมมือในการดำเนินการ ทำให้โครงการดังกล่าวค่อนข้างประสบความสำเร็จ เบื้องต้นจะเริ่มจัดการเรียนการสอนใน 8 สาขา โดยให้เงินท็อปอัปรายหัวที่จะให้เด็กที่เข้ามาเรียนในโครงการดังกล่าวคิดเป็น 60% ของค่าใช้จ่ายรายหัวของเด็กที่เรียนในสายวิชาชีพ ดังนี้ สาขาอุสาหกรรม 6,800 บาทต่อคนต่อปี พาณิชย์กรรม 4,860 บาทต่อคนต่อปี คหกรรม 5,100 บาทต่อคนต่อปี ศิลปกรรม 5,380 บาทต่อคนต่อปี เกษตรกรรม 5,850 ต่อคนต่อปี ประมง 5,850 ต่อคนต่อปี อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 5,100 ต่อคนต่อปี และอุตสาหกรรมสิ่งทอ 5,500 ต่อคนต่อปี ซึ่งรวมค่าบริหารจัดการ และค่าเครื่องแบบไว้แล้ว
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 25 มีนาคม 2558