เปิดตัวนางสงกรานต์ 2558 ทรงนามว่า รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง เสด็จนั่งมาเหนือหลังวราหะ (หมู) เป็นพาหนะบันดาลให้ฝนตก 400 ห่า นาคให้น้ำ 4 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร น้ำงามพอดี ด้าน วธ. อัญเชิญพระพุทธรูปเก่าหายาก 9 องค์ ให้ประชาชนสักการะ รวมถึงดึง 7 วัดดัง จัดงานย้อนยุค สืบสานประเพณีไทย สุขใจไทยทั่วหล้า
วันนี้ (24 มี.ค) ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานงานแถลงข่าวการจัดงานสงกรานต์...สืบสานประเพณีไทย สุขใจไทยทั่วหล้า โดยมี ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัด วธ. น.ส.นันทยา สว่างวุฒิธรรม อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายกฤษศญพงษ์ ศิริ อธิบดีกรมการศาสนา พร้อมผู้บริหารและข้าราชการสังกัด วธ. ร่วมงาน โดย นายวีระ กล่าวว่า วธ. ร่วมกับหน่วยงานในสังกัด ศูนย์การค้าสยามพารากอน สภาวัฒนธรรมกรุงเทพฯ และเครือข่ายด้านวัฒนธรรม จัดกิจกรรมสงกรานต์ทั่วประเทศ เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม และสืบสานสาระคุณค่าของประเพณีสงกรานต์ “คุณค่าครอบครัว คุณค่าต่อชุมชน คุณค่าต่อศาสนา” ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่สำคัญของไทยให้ยังคงความงดงามและสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของไทย
รมว.วัฒนธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นเน้นในรูปแบบดั้งเดิม ดังนี้
1. การจัดกิจกรรมสงกรานต์ 7 วัด ได้แก่ 1. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชมหาวิหาร เขตพระนคร 2. วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน 3. วัดสุทธาโภชน์ เขตลาดกระบัง 4. วัดบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน 5. วัดสุวรรณรามราชวรวิหาร เขตบางกอกน้อย 6. วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เขตปทุมวัน และ 7. วัดเสมียนนารี เขตจตุจักร เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดกิจกรรมสงกรานต์แบบดั้งเดิม ให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าวัดทำบุญ ตักบาตร ขนทรายเข้าวัด เลี้ยงพระ ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ และทำความสะอาดวัดและลานวัด ซึ่งเป็นการสืบทอดและทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาควบคู่ไปกับความบันเทิง สนุกสนาน เช่น การสรงน้ำ พระสารีริกธาตุ ก่อเจดีย์ทราย รำวงย้อนยุค การแสดงลิเก การละเล่นเด็กไทย เป็นต้น โดยจะมีพิธีเปิดงานสงกรานต์...สืบสานประเพณีไทย สุขใจไทยทั่วหล้า ในวันจันทร์ที่ 13 เมษายน 2558 ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ซึ่งมีคณะทูตานุทูตที่ประจำประเทศไทยเข้าร่วมงาน
2. การสักการะ 9 พระพุทธรูปมงคลโบราณ เป็นการอัญเชิญพระพุทธรูปมงคลโบราณ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และคลังกลางจังหวัดปทุมธานี มาประดิษฐานยัง Hall of Fame ชั้น M ศูนย์การค้าสยามพารากอน ระหว่างวันที่ 10 - 15 เมษายน 2558 จำนวน 9 องค์ ได้แก่ 1. พระพุทธรูปประทานพร มีความหมายถึงการให้พรตามคำอธิษฐานขอผู้สักการะ 2. พระไภษัชยคุรุ ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าผู้ช่วยสัตว์โลกทั้งปวงพ้นทุกข์อันเกิดโรคทางกาย และโรคทางใจ ตลอดจนช่วยให้ชีวิตยืนยาว 3. พระหายโศก เป็นพระพุทธรูปที่นำมาใช้ในพระราชพิธีต่างๆ เนื่องด้วยมีพระนามอันเป็นศุกมงคล 4. พระพุทธรูปประทับรอย พระพุทธบาท หมายถึง การบูชาพระพุทธเจ้า 4 องค์ คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า และโคตมพุทธเจ้า 5. พระพุทธรูปห้ามสมุทร หมายถึง การป้องกันภัยอันตราย การปราศจากจากความหวาดกลัว 6. พระพุทธรูปทรงเครื่องพระมหาจักรพรรดิ หมายถึง การปกป้องอันตราย 7. พระล้อม (พระห้าร้อย) นิยมบูชาเพื่อโชคลาภ ทรัพย์สิน ความมั่งคั่ง ความอุดมสมบูรณ์เป็นพิเศษ 8. พระพุทธรูปขอฝน (พระคันธารราษฎร์) อำนวยความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล พื้นดินอุดม พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ และ 9. พระชัยเมืองนครราชสีมา หมายถึง ความมีชัยชนะเหนือศัตรู ขจัดอุปสรรค อำนวยให้พิธีกรรมสำเร็จผล นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย และการแสดงร่วมสมัย อาทิ การแสดงนาฏศิลป์และดนตรีไทย จากกรมศิลปากรและสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การแสดงพื้นบ้าน จากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ที่สำคัญ วธ. ได้ส่งความรักและความปรารถนาดีไปยังประชาชนชาวไทยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ผ่านการอ่านสารนายกรัฐมนตรีเนื่องในวันสงกรานต์และอวยพรเนื่องในวันสงกรานต์ ทั่วประเทศ โดยจะออกอากาศในวันที่ 13 เมษายนนี้ ทั้งนี้ วธ. ได้สนับสนุนการจัดงานสงกรานต์ในกิจกรรม 1 วัด 1 จังหวัด เพื่อให้ประชาชนเข้าร่วมอย่างทั่วถึง
“เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ปี 2558 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้ทำหนังสือ สงกรานต์ สืบสานประเพณีไทย สุขใจ...ทั่วหล้า โดยนำเสนอตำนานสงกรานต์และเรื่องราวเกี่ยวกับนางสงกรานต์มาเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ และถือเป็นครั้งแรกที่มีการวาดรูปนางสงกรานต์ครบทุกนางและครบทุกอิริยาบถที่เห็นภาพชัดเจน เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชน พร้อมได้เผยแพร่ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช 2558 ดังนี้ ปีมะแม เทวดาผู้หญิง ธาตุทอง สัปตศก จุลศักราช 1377 ทางจันทรคติ เป็นอธิกมาส ทางสุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน ตรงกับวันที่ 14 เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ตรงกับวันอังคาร แรม 11 ค่ำ เดือน 5 เวลา 14 นาฬิกา 14 นาที 14 วินาที นางสงกรานต์ ทรงนามว่า รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จนั่งมาเหนือหลังวราหะ (หมู) เป็นพาหนะ นอกจากนี้ วันที่ 16 เมษายน เวลา 18 นาฬิกา 21 นาที 36 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1377 ปีนี้ วันพุธ เป็นธงชัย วันอังคาร เป็นอธิบดี วันอังคาร เป็นอุบาทว์ วันพฤหัสบดี เป็นโลกาวินาศ ปีนี้ วันอาทิตย์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 400 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า นาคให้น้ำ 4 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 2 ชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในภูมินาจะเกิดกิมิชาติ (ด้วงกับแมลง) จะได้ผล กึ่ง เสีย กึ่ง เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปถวี (ดิน) น้ำงามพอดี”นายวีระ กล่าว
น.ส.ทัศชล เทพกำปนาท ผอ.สถาบันวัฒนธรรมศึกษา สวธ. กล่าวว่า ตำนานสงกรานต์มีมานานแล้ว และปรากฏหลักฐานเป็นหลักศิลาจารึกอยู่ที่วัดโพธิ์ ซึ่งปีนี้นางสงกรานต์เสด็จนั่งมาเหนือหลังหมู ซึ่งเชื่อกันว่า ถ้านางสงกรานต์นั่งมาจะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตาย และเกิดเหตุเภทภัยต่างๆ อย่างไรก็ตาม คำทำนายที่เกี่ยวกับนางสงกรานต์ไม่ใช่สิ่งงมงาย แต่เป็นเพียงการเตือนให้รู้เท่านั้น เพื่อให้ทุกคนดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท มีสติ และรู้จักเตรียมวิธีแก้ไขหรือป้องกันไว้ล่วงหน้า
ขอบคุณที่มาจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์