สัปดาห์นี้...เริ่มต้นมาด้วยความคึกคักเพราะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดย 64 เขตพื้นที่ฯ รวมสำนักงานบริหารการศึกษาพิเศษ (สศศ.) อยู่ระหว่างการเปิดรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีทั่วไป ประจำปี 2558 โดยเปิดรับสมัครมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 23-29 มีนาคม
ปีนี้มีอัตราว่างสำหรับการบรรจุรอบแรก 1,700 อัตรา ใน 35 กลุ่มวิชา ดังนี้ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น พม่าศึกษา วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ทั่วไป ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา สังคมศึกษา สุขศึกษา พลศึกษา ดนตรีศึกษา ดนตรีไทย ดนตรีสากล ดุริยางคศิลป์ ดุริยางคศาสตร์ไทย ศิลปศึกษา ทัศนศิลป์ นาฏศิลป์ คอมพิวเตอร์ อุตสาหกรรมศิลป์ เกษตร คหกรรม ประถมศึกษา ปฐมวัย/อนุบาลศึกษา จิตวิทยาและการแนะแนว เทคโนโลยีทางการศึกษาและคอมพิวเตอร์ บรรณารักษ์ การเงิน/บัญชี การศึกษาพิเศษ และกายภาพบำบัด
จะมีการประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบในวันที่ 9 เมษายน และจะเริ่มสอบข้อเขียน ภาค ก ความรอบรู้ ความสามารถทั่วไป และความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครูในวันที่ 23 เมษายน, สอบข้อเขียนภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง วันที่ 2 พฤษภาคม, สอบสัมภาษณ์ ภาค ค วันที่ 10 พฤษภาคม และประกาศผล วันที่ 14 พฤษภาคม
คาดว่าจะมีผู้สมัครสอบหลายแสนคนเนื่องจากผู้ที่พลาดจากการสอบครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ว16 และ ว17 ก็สามารถสมัครสอบครั้งนี้ได้ ผู้ที่ทำคะแนนเกินร้อยละ 60 จะได้รับการขึ้นบัญชีไว้ 2 ปี และทยอยเรียกบรรจุรอบแรก 1,700 อัตรา และในช่วงเดือนตุลาคม จะมีครูเกษียณอายุราชการไม่ต่ำกว่า 20,000 คน ซึ่งจะเรียกผู้ที่สอบขึ้นบัญชีได้มาทยอยบรรจุจนครบ
สำหรับการสอบครูผู้ช่วยกรณีทั่วไปครั้งนี้ สพฐ.ได้วางมาตรการป้องกันอย่างเข้มข้น โดยกำชับให้ทุกเขตพื้นที่ฯที่เปิดสอบ ขอความร่วมมือผู้เข้าสอบทุกคนให้แต่งกายรัดกุมที่สามารถตรวจสอบได้ง่ายว่ามีการนำสิ่งที่ส่อไปในทางทุจริตพกติดตัวเข้าห้องสอบด้วยหรือไม่ นอกเหนือจากมาตรการอื่นๆ ที่เขตพื้นที่ฯ มีอยู่แล้ว อาทิ ถอดถุงเท้ารองเท้า สแกนร่างกาย ห้ามออกจากห้องสอบก่อนหมดเวลา เป็นต้น
มาถึงข่าวดีสำหรับว่าที่นิสิตนักศึกษาครูทั้งหลาย โดยหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไฟเขียวโครงการคุรุทายาท ล่าสุด ในการประชุมองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เมื่อเร็วๆ นี้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ไปจัดทำรายละเอียดโครงการดังกล่าว โดยเบื้องต้นจะเป็นโครงการต่อเนื่อง 15 ปี ให้ทุนนักเรียนชั้น ม.6 เข้าศึกษาต่อคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จำนวน 10 รุ่น 58,000 ทุน ใช้งบประมาณทั้งหมด 4,185 ล้านบาท พร้อมทั้งขอให้ สกศ. ทบทวนจำนวนทุนอีกครั้ง โดยดูความเหมาะสมตามอัตราเกษียณในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่จะมีครูเกษียณอายุราชการถึง 200,000 คน ดังนั้นจึงอาจต้องปรับทุนเพิ่มขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ
พล.ร.อ.ณรงค์ยังสั่งการให้ สกศ.ศึกษาข้อดีข้อเสียและจุดอ่อนของการดำเนินโครงการที่ผ่านมา ซึ่งหลักเกณฑ์หนึ่งที่ค่อนข้างมีปัญหาคือ การกำหนดให้เด็กที่รับทุนต้องเรียนได้เกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.00 ทุกเทอม ทำให้มีเด็กบางส่วนเรียนไม่ไหวและต้องออกจากโครงการ ดังนั้น จึงให้ สกศ.ทบทวนเกณฑ์ดังกล่าวให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น อาทิ กำหนดเกรดไว้ที่ 3.00 แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 2.75 และให้โอกาสแก้ตัวได้ภายใน 1 เทอม โดย สกศ.ต้องจัดทำรายละเอียดเสนอที่ประชุมองค์กรหลักต่อไป
ถือเป็นข่าวดีสำหรับน้องๆ นักเรียน ม.6 ที่ต้องการเป็นแม่พิมพ์...
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 25 มี.ค. 2558 (กรอบบ่าย)