ประเทศที่พัฒนาเจริญรุ่งเรืองได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สังคมอยู่อย่างมีความสุข สมานฉันท์ ก็ด้วยคนในชาติมีคุณภาพทั้งด้านวินัย ความรับผิดชอบ และยังนำหลักประชาธิปไตยมาใช้กับวิถีชีวิตประจำวัน การที่ทุกคนมีคุณลักษณะเช่นนี้ได้ก็เกิดจากการศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนามนุษย์บรรลุเป้าหมายตามที่ชาติต้องการ แต่สำหรับประเทศไทยแล้วหากพูดถึงเรื่องคุณภาพการศึกษาและคุณภาพคนในชาติ ดูเหมือนยังจะไล่หลังเขาอยู่ไม่น้อย แม้จะทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากมาใช้กับการศึกษา สาเหตุที่มาเป็นเพราะอะไรคงไม่ต้องนำมาสาธยายเพราะจี้ไปที่ตรงไหนก็เจอปัญหาตรงนั้น หากเป็นรถยนต์เครื่องก็รวนไปทั้งระบบแล้ว วิธีการแก้ปัญหาคงจะมัวมาคิดแค่ปะผุทาสีใหม่ให้ดูไฉไลแต่เปลือกภายนอกคงไม่ได้ ตอนนี้มีวิธีการเดียวคือต้องยกเครื่องกันใหม่ด้วยการให้ทุกฝ่ายเห็นภาพรวมทั้งอุปสรรคปัญหาในทุกปัจจัยที่ผ่านมาและร่วมกันคิดหาแนวทางพัฒนาที่จะทำให้เกิดเห็นผลในอนาคตทั้งระบบ เพราะหากมัวต่างคิดต่างทำอยู่เช่นนี้ ผลที่เกิดก็คงไม่ต่างไปจากการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ผ่าน ๆ มาอย่างแน่นอน
ดังนั้นเพื่อให้ทุกฝ่ายมองเห็นภาพการจัดการศึกษาทั้งระบบชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เขียนเองจึงได้ลองวิเคราะห์ สังเคราะห์ ปัจจัยต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ จนได้โมเดลตามภาพ ซึ่งโมเดลนี้น่าจะทำให้ทุกฝ่ายมองเห็นช้างทั้งตัวเหมือนกันก่อนแล้วค่อยมาร่วมกันพิจารณาแต่ละส่วนหรือปัจจัยว่ามีจุดเด่น จุดด้อยตรงไหน จะแก้ปัญหาหรือพัฒนากันอย่างไรคุณภาพถึงจะเกิดขึ้น สำหรับผู้เขียนเองมีข้อเสนอแต่ละปัจจัยคือ ต้องมุ่งไปที่ผู้เรียนเป็นอันดับแรกว่าทำอย่างไรถึงจะใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาให้เขาเหล่านั้นเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นอนาคตของชาติที่มีคุณภาพตามที่ประเทศชาติต้องการทั้งด้านคุณภาพชีวิตบนพื้นฐานความพอเพียง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นพลเมืองที่ดี และรักในชาติ ศาสน์ กษัตริย์ มีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพที่สุจริตตามศักยภาพที่มีอยู่ ซึ่งเป้าหมายที่ว่านี้หากต้องการเห็นผลสำเร็จภายในปีหรือสองปีคงเป็นไปได้ยากยกเว้นแต่จะคิดกันอยู่แค่ผลคะแนนจากการสอบข้อสอบที่ให้ความสำคัญกันอยู่ขณะนี้เท่านั้นก็อาจเพิ่มขึ้นได้ด้วยสารพัดวิธีการที่จะทำให้ได้ผลนั้นประโยชน์คงเกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มเรียนเก่งที่สามารถต่อยอดการเรียนรู้สายสามัญจนออกไปประกอบอาชีพตามสาขาที่ศึกษามาได้ แต่เด็กระดับรากหญ้าอีกกว่า 70 เปอร์เซ็นต์แล้วสิ่งที่ต้องได้รับกับการศึกษาคือคุณภาพชีวิตตามที่ได้กล่าวมา เป้าหมายความสำเร็จที่ว่านี้จึงต้องมองไปข้างหน้าอีก 10-15 ปี เป็นอย่างต่ำเราถึงจะเห็นผู้ใหญ่ในชาติเกิดคุณลักษณะที่ต้องการนี้ได้
ซึ่งคุณลักษณะคนไทยในอนาคตที่ว่านี้ผู้เขียนเองเห็นว่าควรมีทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และทักษะการเป็นพลเมืองดี เช่น ทักษะการเรียนรู้ ต้องเป็นผู้มีนิสัยรักการอ่าน ใฝ่เรียนรู้ ใช้เทคโนโลยีเกิดคุณค่ากับการเรียนรู้และดำเนินชีวิต และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตามศักยภาพที่มีอยู่ ทักษะอาชีพ ต้องเป็นผู้ที่สามารถสร้างอาชีพที่สุจริตได้ตามความถนัดสามารถพัฒนางานเกิดมูลค่าเพิ่มอยู่ตลอดเวลาบนพื้นฐานความพอเพียงและดำรงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ในทรัพยากรของชาติโดยเฉพาะแหล่งผลิตอาหารโลกที่ประเทศชาติมีอยู่ ด้านทักษะชีวิต ต้องเป็นผู้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง จิตใจแจ่มใส มีสุนทรียภาพ มีความปลอดภัยในชีวิต คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และดำรงชีวิตอย่างมีความสุข สุดท้ายคือ ทักษะการเป็นพลเมืองดี มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นต้น
หากคนไทยส่วนใหญ่มีคุณลักษณะเช่นนี้ได้ นอกจากคนไทยจะมีวิถีชีวิตที่มีความสุขแล้ว ประเทศชาติเจริญก้าวหน้าได้แน่ ไม่ใช่มัวมาห่วงกันแต่วิชาการ เพราะหากเด็กมีวินัย มีความรับผิดชอบแล้ว การเป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข คงเกิดตามมา โดยปัจจัยที่จะช่วยให้ผู้เรียนไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ก็ขึ้นอยู่กับหลักสูตร ครูผู้สอน และวิธีการจัดการเรียนรู้ ซึ่งทั้ง 3 ส่วนที่ว่ามานี้ที่ผ่านมามีจุดด้อยอยู่มากมายจึงต้องมาคิดใหม่ทำใหม่ เช่น หลักสูตร ต้องปรับให้สอดคล้องกับคุณลักษณะคนไทยที่ต้องการเห็นและต้องเป็นหลักสูตรที่ถูกนำไปใช้จริง โดยมีหน่วยงานโดยตรงจัดทำหลักสูตรแกนกลางให้เหมาะสมกับการพัฒนาแต่ละช่วงชั้น พร้อมคู่มือครู หนังสือเรียนแห่งชาติ ส่วนท้องถิ่นสามารถเพิ่มเติมหลักสูตรท้องถิ่นให้เหมาะสมกับบริบทได้
ด้านครู ต้องสร้างครูมืออาชีพมาพัฒนาเด็ก จึงต้องมีหน่วยผลิตและพัฒนาครูโดยตรง โดยเฉพาะการพัฒนาจะต้องเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ไม่ใช่จบการศึกษาแล้วก็จบเลย ความรู้จึงอยู่ที่เดิมตามวิทยาการสมัยใหม่ไม่ทัน
ด้านวิธีการจัดการเรียนรู้จะต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่ปัจจุบันมีสื่อเทคโนโลยีและแหล่งเรียนรู้ภายนอกมากมายเพื่อพัฒนาเด็กให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ใช่ว่าครูจะสอนอย่างไรก็ได้ขอแค่ให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัยได้ถือว่าประสบผลสำเร็จแล้ว หากคิดกันได้แค่นี้ประเทศก็คงอยู่แค่นี้เป็นแน่ ส่วนต่อมาก็เป็นปัจจัยที่จะเอื้อให้การพัฒนาผู้เรียนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ ด้านการบริหารจัดการ การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย การสร้างเครือข่ายการพัฒนาระหว่างโรงเรียนและหน่วยงานต่าง ๆ มีแหล่งเรียนรู้ในชุมชน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มีการวิจัย คิดค้นหาสื่อ นวัตกรรม คู่มือครู ตำราเรียน ที่เป็นแกนหลักในการเรียนรู้ รวมถึงรูปแบบการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียนในแต่ละบริบท มีระบบการกำกับ ติดตาม ประเมินผล ที่สะท้อนถึงผลดำเนินการที่แท้จริง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขและพัฒนามากกว่าการจับผิดหรือแข่งขัน
ซึ่งกระบวนการพัฒนาจากปัจจัยต่าง ๆ ตามที่กล่าวมานั้น หากยังปล่อยอิสระต่างฝ่ายต่างคิดต่างทำ หรือขาดมาตรการให้คุณให้โทษกับผู้รับผิดชอบของการปฏิบัติงานแต่ละส่วนแล้ว แม้จะปฏิรูปอย่างไรความสำเร็จคงเกิดขึ้นยาก ส่วนนี้จึงต้องมีมาตรการหรือกฎหมายกำหนดให้ชัดไปเลยว่าทุกรัฐบาลจะต้องจัดการศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แผนการศึกษาของชาติ โดยยึดโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจชาติที่กำหนดไว้ หากไม่ดำเนินการก็ถือว่าผิดกฎหมายมีบทลงโทษ ส่วนผู้ปฏิบัติทุกภาคส่วนก็คงต้องมีมาตรการเช่นนี้ด้วยเช่นกันเพื่อประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน
จากโมเดลที่นำมาเสนอนี้คงไม่ใช่ว่าจะถูกต้องทั้งหมดหรือเป็นเรื่องใหม่ เพียงแต่ต้องการนำเสนอปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาทั้งระบบให้ทุกฝ่ายมองเห็นภาพชัดเจนขึ้น ส่วนในรายละเอียดคิดว่าจะบูรณาการร่วมกันพัฒนาอย่างไรก็ว่ากันไป เพราะไม่อยากเห็นการปฏิรูปการศึกษาของไทยต้องวนเวียนอยู่ในวัฏจักรเดิมแบบต่างคนต่างคิด โดยไม่มองเป้าหมายจากผู้เรียนเป็นหลัก เมื่อคุณภาพการศึกษาตกต่ำก็โทษกันไปมา อย่างไรก็ตามการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้หวังว่าผู้มีอำนาจและผู้รับผิดชอบทั้งหลายจะให้ความสำคัญอย่างจริงจังและทำอย่างตรงจุด เพราะหากมัวหลงทางติดกับดักอยู่กับการแก้ปัญหาด้านอื่น ๆ แล้วปล่อยให้คนในชาติขาดคุณภาพ ในที่สุดทุกอย่างก็ล้มเหลวติดอยู่กับวังวนเหมือนเช่นเคย.
กลิ่น สระทองเนียม
ที่มา เดลินิวส์ วันอังคาร 24 มีนาคม 2558