คอลัมน์สามัญสำนึก โดย สมปอง แจ่มเกาะ
หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้จัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาตามที่กระทรวงการคลังเสนอเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 มีนาคม) ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาพอหอมปากหอมคอ
โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า การเก็บภาษีดังกล่าวไม่ได้แก้ปัญหาระบบการศึกษา และเป็นการเพิ่มภาระให้พ่อแม่ผู้ปกครอง
คงไม่มีใครแย้งหรือปฏิเสธ
ที่ผ่านมานักวิชาการด้านการศึกษาหลายท่านเคยบอกว่าโจทย์ที่ใหญ่กว่าเรื่องการจัดเก็บภาษีคือ ทำอย่างไรที่จะลดปริมาณการกวดวิชาลง และทางออกอย่างหนึ่งคือ ต้องแก้เป็นระบบ ทั้งการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษา การวัดและประเมินผลในโรงเรียน รวมถึงระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม สำหรับในมุมของกระทรวงการคลัง หลักคงไม่มีอะไรมากไปกว่าการจัดระเบียบ อะไรที่ทำเป็นธุรกิจมีรายได้ มีกำไร ก็จับมาเข้าระบบให้มีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง โรงเรียนกวดวิชาก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น
ส่วนในมุมของโรงเรียนกวดวิชา ผมคิดเองว่าก็น่าจะดี เป็นโอกาสดีที่จะก้าวเข้าสู่ระบบภาษีอย่างสง่างามและได้ชื่อว่าเป็นพลเมืองดีของประเทศ
หลังเข้าระบบภาษีแม้โรงเรียนกวดวิชาจะต้องปรับราคาค่าติวเพิ่มบ้าง ผมขอฟันธงไว้ตรงนี้เลยว่า จำนวนนักเรียนที่จะสมัครเรียนจะไม่ลดลงแน่นอน
ไม่ว่าจะมากหรือน้อยพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่พร้อมจะควักกระเป๋าจ่าย
มีคำถามตามมาว่าทำไมต้องเรียนพิเศษ ?
แน่นอนว่าเหตุผลของผู้ปกครองหรือเด็กแต่ละคนก็คงแตกต่างกันไป
เหตุผลของเด็กมัธยมศึกษาตอนต้นก็จะต่างจากเหตุผลของเด็กมัธยมศึกษาตอนปลาย
ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองร้อยทั้งร้อยก็ต้องการจะเห็นลูกหลานประสบความสำเร็จในการเรียน เพื่อจะได้มีอาชีพการงานที่ดี คงไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ไม่อยากให้ลูกเรียนหนังสือไม่เก่ง
หากย้อนกลับไปจะพบว่า โรงเรียนกวดวิชาในบ้านเรานั้นน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี และเติบโตมาต่อเนื่อง ทั้งในแง่จำนวนผู้เรียนและจำนวนโรงเรียน
ไม่ว่าเศรษฐกิจจะย่ำแย่แค่ไหน แต่ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาก็ไม่ได้รับผลกระทบ นั่นเพราะดีมานด์ที่นับวันก็จะยิ่งสูงขึ้น ๆ
อย่างที่ทราบกันดีวันนี้ไม่เพียงเฉพาะสยามสแควร์ที่เป็นศูนย์รวมโรงเรียนกวดวิชา แต่ยังมีโรงเรียนกวดวิชากระจายไปทั่วทุกมุมเมือง ไม่เว้นแม้แต่หัวเมืองใหญ่ ๆ ในต่างจังหวัด
นอกจากนี้ ยังมีนักเรียนจำนวนไม่น้อยจากปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ชลบุรี ราชบุรี ฯลฯ ที่ลงทุนเดินทางเข้ามากวดวิชาในช่วงวันหยุด เพื่อเรียนคอร์สสดที่สยามสแควร์ อาคารวรรณสรณ์
ว่ากันว่า แต่ละปีมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจนี้ภาคเรียนละหลายพันล้านบาท เมื่อรวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร คาดว่าจะมีตัวเลขเฉียด ๆ หมื่นล้านบาท/ปีเลยทีเดียว
ล่าสุดผมเพิ่งอ่านบทความเรื่อง "การเอนทรานซ์ การกวดวิชา และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ" จาก www.mecon.econ.chula.ac.th/e_young/articles/tutor.html เขียนโดยศิวพงศ์ ธีรอำพน ที่ศึกษาจากผลการวิจัยของนักการศึกษาชั้นแนวหน้าของเมืองไทยหลายคน ที่เขียนไว้เมื่อหลายปีก่อน ส่วนหนึ่งระบุว่า เหตุผลที่ผู้ปกครอง-นักเรียนต้องเสียเงินเรียนเพิ่ม หลัก ๆ มาจากความต้องการเพิ่มพูนความรู้นอกเหนือจากที่เรียนจากโรงเรียน ทบทวนความรู้ ช่วยสรุปเนื้อหาให้เข้าใจมากขึ้น ได้เทคนิควิธีการคิด การช่วยจำหลายแบบที่ช่วยในการทำข้อสอบ ฯลฯ
ที่สำคัญคือ การเรียนกวดวิชาช่วยให้การเรียนดีขึ้น ช่วยในการสอบเข้าศึกษาต่อ
เป็นเหตุผลที่ไม่ต่างจากญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง ที่ตลาดโรงเรียนกวดวิชาสุดแสนจะเฟื่องฟู
สุดท้ายนี้ ไหน ๆ ก็จัดเต็มกับเรื่องวิชาการแล้ว อย่าลืมช่วยปลูกฝังค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ที่คุณลุงตู่รณรงค์ด้วย เด็กๆ จะได้ครบเครื่องทั้งบุ๊นและบู๊
ส่วนเรื่องจะปฏิรูปการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ก็คงฝากเป็นการบ้านกระทรวงศึกษาธิการต่อไป
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์