วันนี้ (19มี.ค.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)เมื่อเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายการศึกษา ได้นำเสนอร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ พ.ศ.... ซึ่งเป็นการปรับรวมร่าง พ.ร.บ.ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาการศึกษาแห่งชาติ(สกศ.) และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ หรือ ซุปเปอร์บอร์ด โดยมีนายกรัฐมนตรี หรือผู้ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย ผู้แทนโดยตำแหน่งจากองค์กรต่างๆ และผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งสิ้น 21 คน อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะที่ประชุมได้มีการทักท้วงในหลายจุดทั้งในเรื่ององค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของซุปเปอร์บอร์ด ซึ่งมีการระบุอำนาจไว้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอำนาจในการพิจารณาการปรับย้ายข้าราชการระดับสูงของ ศธ. และให้ความเห็นชอบการตั้งงบประมาณเพื่อการศึกษา
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ซึ่งก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สรุปว่าได้มอบให้คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฏหมายการศึกษาของ ศธ. และคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สปช. ซึ่งเป็นผู้ยกร่างกฎหมายทั้ง 2 คณะ นำร่างกฎหมายดังกล่าวไปทบทวน และตั้งหลักใหม่โดยให้นำงานและอำนาจหน้าที่เป็นตัวตั้ง จากนั้นค่อยพิจารณาองค์ประกอบอื่น ส่วนที่มองว่า สปช.ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปแล้วทำไมต้องนำเสนอให้ ศธ.พิจารณาอีกนั้น การปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.จะทำงานคู่ขนานไปกับ สปช.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดังนั้นเมื่อเห็นว่ามีประเด็นใดที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมก็ต้องให้ข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปปรับแก้เพราะคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปฯก็ทำงานอยู่ใน สปช. และ สนช.อยู่แล้ว
ต่อข้อถามว่า การเสนอจัดตั้งซุปเปอร์บอร์ดจะซ้ำซ้อนกับที่นายกรัฐมนตรีตั้งหรือไม่ พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ตอนนี้ร่าง พ.ร.บ.ที่จะจัดตั้งซุปเปอร์บอร์ดยังไม่เกิด และคงใช้เวลาอีกนาน เพราะ สปช.เพิ่งจะพิจารณาไป ดังนั้นคงต้องรออีกหลายขั้นตอน นายกฯจึงตั้งซุปเปอร์บอร์ดไว้ก่อน โดยส่วนตัวคิดว่าเมื่อใดที่ซุปเปอร์บอร์ดใหม่เกิดขึ้น ซุปเปอร์บอร์ดเก่าก็อาจยกเลิกไป คงไม่ซ้ำซ้อนกัน เพราะเมื่อถึงเวลานั้น จะมีแค่บอร์ดเดียวเท่านั้น สำหรับโครงสร้างใหม่ของ สกศ.นั้น ยังไม่ได้ระบุชัดเจนว่า จะเป็นส่วนราชการหรือองค์กรอิสระ แต่ที่ระบุในร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดว่า ต้องมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ เป็นผู้ทำหน้าที่ด้านธุรการเหมือนกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเท่าที่ดูมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการ.
ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 19 มีนาคม 2558