ปฏิรูปการศึกษาไทยไม่ให้ต่ำเตี้ยตกมาตรฐาน
“เด็กไทย”...จะได้เติบใหญ่อย่างมีคุณภาพเป็นพลังของชาติ เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องคำนึงถึงกระบวนการจัดการเรียนการสอนของแต่ละสถานศึกษาจำเป็นจะต้องสอนให้เด็ก “คิดเป็น”...ปลายทางเด็กจะต้องมี “ความรู้คู่คุณธรรม” ปัญหามีว่า...ถ้าให้โรงเรียนแต่ละแห่งประเมินกันเอง มาตรฐานการประเมินก็จะแตกต่าง ความน่าเชื่อถือก็อาจจะไม่ค่อยมี
“โอเน็ต” หนึ่งไม้บรรทัดประเมินผลสัมฤทธิ์ปลายทางทางการศึกษา จึงเป็นมาตรฐานกลาง ออกข้อสอบตามตัวชี้วัดในหลักสูตร เป็นเครื่องมือที่ใช้วัด...วัดในเด็กที่เก่งก็ทำได้ เด็กปานกลางก็ค่อนข้างจะทำได้ รวมไปถึงเด็กอ่อนๆ ก็ทำได้ยากสักหน่อย
“เด็กไทย”...ครึ่งหนึ่งศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นโรงเรียนที่เสียโอกาส ประสบกับปัญหาขาดครูบ้าง ความพร้อมไม่เท่ากัน...เวลาผลการประเมินออกมาจำเป็นต้องแยกเป็นขนาดโรงเรียน แต่พอเอาทุกขนาดมารวมกันแล้วหาค่าเฉลี่ยประเมินแบบอิงกลุ่ม ถ้ากลุ่มใหญ่ไปทางอ่อน ตัวเลขที่สะท้อนออกมาก็มีแนวโน้มไปทางอ่อน
ดังนั้น...ในทางสถิติ จึงมีการกำหนดเกณฑ์ขึ้นมาเป็นจุดตัดในแต่ละกลุ่มสาระที่จัดสอบ ซึ่งต้องคำนึงถึงความยากง่ายในแต่ละกลุ่มสาระที่มีความแตกต่างกัน โดยมีเกณฑ์กำหนดปลีกย่อยลงไปอีก
สมมติตัวเลขให้เข้าใจง่ายๆ ถ้าได้ 0-10 ถือว่า “ตก” ได้ 11-20 ...“ปรับปรุง” ได้ 21-30 ถือว่า “ผ่าน”...ในระดับพอใช้ ไล่ระดับไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงขั้น “ดีเยี่ยม” เป็นต้น
นี่คือเกณฑ์ละเอียดที่ไม่ได้ประกาศให้สาธารณชนทั่วไปรับทราบ แต่ประกาศให้โรงเรียนทราบ เพื่อที่จะได้บอกว่าเด็กของสถานศึกษานั้นๆ แนวโน้มตามข้อสอบที่อิงเกณฑ์แล้วนั้นเป็นเช่นไร...ไม่ใช่ว่าได้ร้อยละ 50 ถึงจะผ่าน ขึ้นอยู่กับค่าความยากด้วย เสียงหนึ่งในแวดวงการศึกษาสะท้อนว่า “สังคมเราชอบตัดสินคนที่ห้าสิบเปอร์เซ็นต์ จริงๆแล้วไม่ใช่ คะแนนที่มองเห็นมีความซับซ้อนกว่าที่เห็นและคิดกัน”
ทีนี้...มีความพยายามที่จะให้การสอบโอเน็ต ให้เด็กมีความตั้งใจที่จะสอบมากขึ้น เลยกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะจบหลักสูตรในระดับชั้น ป.6, ม.3, ม.6 เป็นสัดส่วนว่าโรงเรียนจัดการเรียนการสอนไปร้อยละ 80 เหลืออีก 20 เป็นสัดส่วนคะแนนโอเน็ต
แนวทางนี้ก็ถือว่าได้ผล แต่ก็ยังมีเด็กบางกลุ่มที่เป็นส่วนน้อยมากที่ไม่ได้สอบ ด้วยมีปัญหาต่างๆ มาปีนี้เพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็น 70...30 เพื่อให้เด็กตั้งใจทำข้อสอบมากขึ้น
“...อาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คะแนนปีนี้สูงขึ้นก็ได้ พร้อมๆกับต้องยกความดีให้กับความร่วมมือ สามัคคีกันระหว่างเขตพื้นที่การศึกษา เขตฯที่ได้คะแนนอ่อนได้รับการโค้ชชิ่งจากเขตฯพื้นที่ที่ได้คะแนนสูงจับคู่กัน...มีการประชุมนัดหมายให้มาดูกันระหว่างเขตฯให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”
โค้ชชิ่งจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมกันหลายรูปแบบ แล้วแต่ว่าป่วยด้วยโรคอะไร วิเคราะห์กันเอง...ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีสื่อ ก็ช่วย...ไม่มีเทคนิคการสอน ขาดครูวิชาเอกก็ส่งครูเก่งๆไปช่วย เรียกว่าพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ตัวอย่างผลคะแนน “โอเน็ต ป.6” ที่เพิ่งประกาศไปเมื่อเร็วๆนี้ มีนัยสะท้อนการพัฒนาระบบการศึกษาบ้านเราน่าสนใจ ดร.กมล
รอดคล้าย เลขาธิการฯ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บอกว่า ผลคะแนนออกมาน่าพอใจ เพิ่มขึ้นกว่าปี 56 โดยถ้าคิดเฉพาะ 5 วิชาหลักเพิ่มจากคะแนนเฉลี่ย 39.30 เป็น 42.35...ถ้าคิดทั้ง 8 วิชา เพิ่มจาก 44.81 เป็น 45.73
ทั้งนี้ วิชาหลักที่เพิ่มขึ้นคือ “สังคม” จาก 38.31 เป็น 50.67 “อังกฤษ” จาก 33.82 เป็น 36.02 และ “วิทยาศาสตร์” จาก 37.40 เป็น 42.13 สำหรับวิชาที่ใกล้เคียงกับคะแนนในปี 56 คือ “ภาษาไทย” ซึ่งลดลงจาก 45.02 เป็น 44.88 และ “คณิตศาสตร์” จาก 41.95 เป็น 38.06
สำหรับอีก 3 รายวิชา คือ...“สุขศึกษา” และ “ศิลปะ”... คะแนนลดลงเล็กน้อย ขณะที่วิชา “การงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี” คะแนนเพิ่มขึ้น จาก 53.16 เป็น 56.32
แม้ว่าดูจากตัวเลขจะไม่มาก แต่ ดร.กมล มองว่า ความสำเร็จดังกล่าวมาจากการทุ่มเทของหน่วยงานที่รับผิดชอบ สพฐ. เขตพื้นที่การศึกษา และการใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมจากวังไกลกังวล นโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่มาเติมเต็มการขาดแคลนครู...ปัญหาครูไม่ครบชั้น หรือไม่ครบวิชา แม้แต่ครูสอนไม่ตรงเอก
“ครูตู้”...เป็นแนวทางพัฒนาที่ถูกต้อง ต้องดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง ส่วนวิชาที่ยังมีคะแนนน้อยนั้นจะมีการวิเคราะห์หาว่าอ่อนในกลุ่มใด ด้วยสาเหตุใด เพื่อจะนำไปสู่การหาแนวทางยกระดับการเรียนรู้ต่อไป
ประเด็นที่ต้องเน้นย้ำ...การคำนวณค่าคะแนนโอเน็ตเป็นการวัดระดับผลสัมฤทธิ์เนื้อหา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ไม่ได้หมายถึงต้องได้เกิน 50 คะแนนจึงจะผ่านเกณฑ์ แต่จะมีการคำนวณโดยอิงเกณฑ์และมีค่าสถิติประกอบหรือถ่วงน้ำหนักในแต่ละวิชาเช่น...คะแนนช่วง 30-40 คะแนนขึ้นไปก็จัดว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน เพราะขึ้นอยู่ที่ค่าความยากของข้อสอบด้วย
ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงก็คือ...“เด็กที่สอบได้คะแนนเต็ม” เกือบทุกวิชาด้วยซ้ำ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มอบรางวัลทุกปี แต่ไม่ค่อยเป็นข่าว...เด็กไทยควรต้องเก่ง ดี มีสุข เก่งให้ครบทุกด้าน
คำถามมีว่าแล้วเราจะเริ่มต้นกันที่ไหน?...อย่างไร? คำตอบก็คือต้องช่วยกันหมด ทั้งครู ผู้ปกครอง โดยเฉพาะผู้ปกครองชอบผลักภาระให้กับครู...พัฒนาการทุกอย่างของเด็กอยู่ที่ครูเท่านั้น แต่ถ้าครูตี...ครูก็โดนอีก ปัญหานี้เหมือนเป็นภูเขาน้ำแข็ง มีฐานลึกกว้างใหญ่ไพศาลใต้น้ำที่โผล่ยอดออกมาให้เห็นเพียงนิดเดียวเท่านั้น
อีกความจริงที่ต้องยอมรับ ตั้งหวังอยากให้เด็กเก่ง วังวนความคาดหวัง...แน่นอนวัฒนธรรมการกวดวิชาก็คงไม่หมดไป ถึงไม่มีการสอบ “โอเน็ต” ก็ยังกวดกันอยู่ดี เพื่อต้องการให้ลูกเกิดความเก่ง หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือพ่อแม่...ผู้ปกครอง สอนให้เด็กแข่งขันตั้งแต่เกิด ขณะที่อีกด้านหนึ่งของเด็กขาดเรื่องคุณธรรม จริยธรรม
“การปฏิรูป” เราต้องถามตัวเองว่าเรารู้ไหมว่าเราอยากจะปฏิรูปจากอะไร?...ให้กลายเป็นอะไร?... “กุญแจในการปฏิรูปการศึกษา” นายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตวิทยาการศึกษา กล่าวไว้ว่า หลายประเทศทั่วโลกมีบทเรียน มีปัญหาเรื่องการปฏิรูปการศึกษา บิล เกตส์ ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษา เริ่มรู้ว่าอะไรสำคัญ พบว่าสิ่งที่สำคัญคือ “คุณภาพของครู” และ “คุณภาพการสอน”
การที่ “ครูมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กที่ดี” คือหัวใจสำคัญ
“เราจะทำงานอะไร ก็คงต้องใช้หัวใจเป็นหลัก ใช้ความรักเป็นสำคัญ งานจึงออกมาดี ครูจะเป็นครูก่อนจะไปสอน ถ้าความสัมพันธ์ไม่ดีต่อให้ครูเก่งแค่ไหน ครูก็สอนไม่ได้ดี”
การเรียน...การสอน เป็นทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” การที่ไปดูครูที่สอนเก่งสอน การที่ไปดูครูต้นแบบต่างๆ ที่ว่าดีๆ หรือพูดเรื่องความรักของครูที่มีต่อเด็กศิษย์ที่อาจเป็นเรื่องนามธรรมก็จะเป็นศิลปะ คนดูได้แรงบันดาลใจ
แล้วถ้าจะทำให้ “ครู” เป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ก็ต้องเข้าใจต่อไปอีกว่า “ศาสตร์” คือสิ่งที่วัดได้ ทำซ้ำได้ คนอื่นเอาไปปฏิบัติได้...การพัฒนาติดอาวุธให้ครูไทย กระทั่งนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาไทยจึงต้องพุ่งเป้าไปที่ศาสตร์ของครู ที่มีการทดลอง มีการวิจัยแล้วก็มีการพัฒนาที่เอาไปทำซ้ำได้ วัดได้
“การปฏิรูป...การศึกษาไทย” เราต้องการผลลัพธ์ “เด็กเก่งขึ้น...เรียนดีขึ้น”.
ที่มา ไทยรัฐ 19 มี.ค. 2558