สพฐ. รับลูก รมว.ศึกษาฯ เตรียมวิเคราะห์ลงลึกผลสอบ O-Net ทุกรายวิชาในทุกระดับชั้นและช่วงชั้น ว่าเด็กที่มีปัญหาอ่อนวิชาใด “กมล” ยันการให้เขตพื้นที่ฯ ออกข้อสอบ O-Net 3 กลุ่มที่ สทศ. ไม่ได้จัดสอบจะเป็นไปอย่างโปร่งใส และได้มาตรฐานแน่นอน
วันนี้ (17 มี.ค.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) วิเคราะห์คะแนนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 และมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยดูอย่างละเอียดทุกรายวิชาเจาะลึกเป็นรายเขตพื้นที่การศึกษาและภูมิภาค ว่า มีวิชาใดที่คะแนนลดลงบ้างและลดลงจากสาเหตุใด ว่า ขณะนี้ สพฐ. ได้ดำเนินการวิเคราะห์คะแนน O-Net ในระดับ ป.6 แล้ว ขณะเดียวกัน จะรอให้สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ประกาศผลคะแนน O-Net ในระดับ ม.6 ให้เรียบร้อยก่อน จึงจะเริ่มวิเคราะห์ลงลึกรายวิชาภาพรวมของทุกช่วงชั้น ว่า ในแต่ละระดับชั้น เด็กอ่อนวิชาไหน และอยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาใด และอยู่ในโรงเรียนประเภทใดมากที่สุด เช่น พบเด็กอ่อนวิชาภาษาไทยในโรงเรียนชายแดน เป็นต้น ซึ่งเขตพื้นที่ฯ ก็รับไปปฏิบัติและพัฒนาโรงเรียนเหล่านั้นต่อไป อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 17 เมษายนนี้ สพฐ. จะเรียกประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 225 เขตทั่วประเทศเพื่อร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนายกระดับผลคะแนน O-Net ให้มีคุณภาพต่อไป
นายกมล กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีข้อห่วงใยว่ากรณีให้เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้จัดสอบและออกข้อสอบ O-Net ใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ศิลปะ สุขศึกษา พลศึกษา และการงานอาชีพและเทคโนโลยี ซึ่งเขตพื้นที่ฯอาจจะไม่เอาจริงเอาจังและอาจจะทำให้เกิดความไม่โปร่งใส อีกทั้งนักวิชาการที่อยู่ในเขตพื้นที่การศึกษาก็มีจำนวนน้อยนั้น ตนยืนยันว่าการออกข้อสอบ O-Net ทั้ง 3 กลุ่มสาระฯจะดำเนินการอย่างโปร่งใสและมีมาตรฐานแน่นอน เพราะตนคงไม่ปล่อยให้เขตพื้นที่ฯออกข้อสอบเองโดยไม่มีการวางกรอบการทำงาน เพราะจะทำให้เกิดความลักลั่นได้ ซึ่งในเร็วๆนี้จะมีการประชุมวางแผนเรื่องดังกล่าว เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยจะดึงนักวิชาการและมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมวางมาตรฐานด้วย อีกทั้ง สพฐ. เองก็มีสำนักทดสอบทางการศึกษาและยังเป็นผู้จัดสอบการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ National Test ของเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เช่นกัน ดังนั้น ขอให้มั่นใจได้ว่า สพฐ. จะวางระบบอย่างมีมาตรฐาน
ที่มา ASTVผู็จัดการออนไลน์ วันที่ 17 มีนาคม 2558