รีดภาษีโรงเรียนกวดวิชาผู้ปกครองรับเคราะห์ตามคาด ชี้กฎหมายมีผลใช้บังคับต้องปรับค่าเรียนพิเศษเพิ่ม 3-8% จับตากลุ่มติวเตอร์บุคคลดิ้นหาช่องหลบอัตราภาษีก้าวหน้า แห่จดทะเบียนนิติบุคคลจ่ายภาษีถูกกว่า
นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎหมายเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งรัดดำเนินการ ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการอยู่ระหว่างรอกฎหมายดังกล่าวประกาศบังคับใช้ ซึ่งจะจัดเก็บภาษีเงินได้จากโรงเรียนกวดวิชา โดยขึ้นอยู่กับสถานประกอบการว่าจดทะเบียนจัดตั้งในรูปแบบใด หากจัดตั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดาจะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในอัตราก้าวหน้า 5-35% แต่ถ้าจดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคลจะเสียภาษี 20% ของกำไรสุทธิรวมแล้วมีโรงเรียนกวดวิชาที่จดทะเบียนกับ สช.และเข้าข่ายต้องเสียภาษีทั้งหมด 2,379 โรงเรียน แบ่งเป็นเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) 549 แห่ง และส่วนภูมิภาค 1,830 แห่ง ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่โรงเรียนกวดวิชาอาจผลักภาระไปยังผู้บริโภค เพราะภาระภาษีที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อรายได้ อย่างไรก็ตาม หากจะขึ้นค่าเรียนต้องขออนุญาตจาก สช.ก่อน ไม่สามารถขึ้นค่าเล่าเรียนโดยพลการได้ และต้องชี้แจงรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ พร้อมระบุเหตุผลในการปรับเพิ่มราคา แต่มีระเบียบปฏิบัติกำหนดไว้ว่าโรงเรียนกวดวิชาจะมีกำไรจากการประกอบธุรกิจได้ไม่เกิน 20% เท่ากับเป็นการควบคุมค่าเรียนอีกทางหนึ่ง
นายอนุสรณ์ ศิวะกุล นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชาเปิดเผยว่า พร้อมปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล แต่ต้องการให้กรมสรรพากรให้เวลาโรงเรียนกวดวิชาในการปรับตัว เพื่อทำทุกอย่างเข้าสู่ระบบในปีนี้ จากนั้นค่อยเริ่มจัดเก็บภาษีในปีหน้า เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่จัดตั้งขึ้นในรูปบุคคลธรรมดา และเมื่อดูจากรายได้ของโรงเรียนกวดวิชาแล้ว คาดว่าส่วนใหญ่ต้องเสียภาษีรายได้ที่ 30% โรงเรียนกวดวิชานอกระบบเหล่านี้จึงน่าจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการ โดยยื่นขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีต้นทุนสูงทำให้ต้องปรับขึ้นค่าเล่าเรียนกระทบต่อผู้บริโภค
"นอกจากนี้การจัดเก็บภาษี ทำให้โรงเรียนกวดวิชาต้องมีค่าดำเนินการเกี่ยวกับบัญชี มีต้นทุนเพิ่มขึ้นมาอีก 2% สิ่งเหล่านี้จะถูกนำไปคำนวณเป็นค่าเรียนที่เพิ่มขึ้น คาดว่าโรงเรียนกวดวิชาที่จดทะเบียนรูปแบบบุคคลธรรมดา จะปรับค่าเรียนขึ้นประมาณ 8% ส่วนโรงเรียนกวดวิชาที่เป็นนิติบุคคล มีฐานการจัดเก็บภาษีน้อยกว่า น่าจะปรับค่าเรียนเพิ่ม 3% สำหรับภาระภาษีที่เกิดขึ้น โรงเรียนกวดวิชาจะแบ่งภาระกับผู้บริโภคคนละครึ่ง คิดว่าไม่มีใครกล้าผลักภาระไปมากกว่านี้ เพราะถ้าผลักภาระมากอาจทำให้ยอดผู้เรียนลดลง"
นายอนุสรณ์กล่าวว่า มีโรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งสอบถามตนว่า ต้องปรับค่าเรียนเลยหรือไม่ ซึ่งได้แนะนำว่ายังไม่ควรปรับ เพราะยังไม่ทราบว่าภาษีจะจัดเก็บในปีนี้เลยหรือไม่ และถึงแม้สรรพากรประกาศว่าจะจัดเก็บภาษีในปีนี้ โรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีระบบบัญชีที่สมบูรณ์ ดังนั้น จึงอยากให้สรรพากรให้เวลาบ้าง
ขณะที่นายธเนศ เอื้ออภิธร ผู้อำนวยการ-ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชาเอ็นคอนเส็ปท์ กล่าวว่า โรงเรียนกวดวิชาอยากได้ความชัดเจนว่าจะมีการจัดเก็บภาษีกลางปีนี้หรือปีหน้า เพื่อจะได้เตรียมตัวทัน เนื่องจากตามปกติจะมีการออกระเบียบการเรียนล่วงหน้าหลายเทอม จึงไม่อยากเปลี่ยนแปลงราคากะทันหัน ประกอบกับเด็กนักเรียนบางส่วนได้ลงทะเบียนเรียนล่วงหน้าไปแล้ว
"ในระยะสั้นเรายังไม่มีนโยบายปรับค่าเล่าเรียนและยังไม่ได้คิดว่าจะปรับมากขึ้นกว่าเดิมเท่าไรต้องรอกฎหมายออกมาชัดเจนก่อนและดูว่าสรุปแล้วอัตราเป็นอย่างไร มีการเก็บแวต (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ด้วยหรือไม่ บางโรงเรียนอาจไม่เพิ่มค่าเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนเล็ก ๆ ที่มีฐานภาษีต่ำ อย่างไรก็ตาม หากเพิ่มค่าเรียนขึ้น 5-10% ถือเป็นเรื่องอ่อนไหวสำหรับผู้บริโภค ดังนั้นผมคิดว่าถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ โรงเรียนกวดวิชาจะคงราคาเดิมไว้ คือ ถ้าเจอเก็บภาษี 5% ทางโรงเรียนยังรับภาระไว้ได้ แต่ถ้าเกินจากนี้คงต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะปรับขึ้นค่าเล่าเรียนหรือไม่"
นอกจากนี้ ยังมองว่าด้วยความที่โรงเรียนกวดวิชาไม่มีระบบบัญชีเหมือนธุรกิจอื่น ดังนั้น กรมสรรพากรน่าจะให้เวลาเตรียมพร้อม และจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการทำระบบบัญชี เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด หรือทำผิดกฎหมายโดยไม่ตั้งใจ ไปสู่การโดนจ่ายค่าปรับย้อนหลัง
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า การจัดเก็บภาษีนิติบุคคลจากโรงเรียนกวดวิชาจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจของโรงเรียนกวดวิชาเพิ่มขึ้นและอาจผลักภาระต้นทุนผ่านการปรับเพิ่มราคาหลักสูตรการเรียนแต่คงไม่ทำให้จำนวนนักเรียนที่เรียนกวดวิชาลดลงเนื่องจากผู้ปกครองและนักเรียนยังให้ความสำคัญกับการเรียนกวดวิชา ทั้งในกลุ่มนักเรียนที่เรียนอ่อน และกลุ่มนักเรียนที่เรียนอยู่ในระดับดีแต่ต้องการเสริมสร้างความมั่นใจ เพื่อยกระดับผลการเรียนในโรงเรียน และเตรียมความพร้อมสู่การสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการมูลค่าตลาดธุรกิจกวดวิชาปี 2558 ไว้ที่ 8,189 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 6.8 จากปี 2557 ที่มูลค่าตลาด 7,670 ล้านบาท จากปัจจัยจำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้น และการปรับเพิ่มราคาค่าเรียนต่อหลักสูตรการเรียน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาที่ ครม.เห็นชอบ ประกอบด้วย ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ร่างกฎกระทรวง ฉบับที่... (พ.ศ. ...) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร รวม 5 ฉบับ (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการโรงเรียนเอกชนและปรับปรุงการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา)
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์