คณะอนุฯ ปฏิรูปการเรียนรู้ เตรียมชงบอร์ดปฏิรูป ศธ.ฟื้นกรมวิชาการ แยกออกจาก สพฐ.ให้เป็นหน่วยงานกลางดูแลหลักสูตรในภาพรวมของทั้งประเทศ ขึ้นตรงต่อสถาบันวิจัยระบบการศึกษา องค์กรใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (16 มี.ค.) นางสิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ ในคณะอำนวยการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน กล่าวว่า ในการประชุมคณะอำนวยการปฏิรูปฯ ในพุธที่ 18 มี.ค. นี้ คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ เตรียมเสนอให้ฟื้นกรมวิชาการขึ้นมาอีกครั้ง เพราะหลังจากที่ยุบกรมวิชาการเดิมไปเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)แล้ว ทำให้ไม่สามารถบริหารงานการจัดการหลักสูตรได้ครบวงจร อีกทั้ง ไม่สามารถดูแลเรื่องวิชาการและหลักสูตรให้สถานศึกษาสังกัดอื่นๆ นอกจาก สพฐ.ด้วย
“ก่อนปี 2549 ที่จะมีการปรับโครงสร้าง ศธ.ใหม่นั้น กรมวิชาการมีฐานะเป็นกรมดูแลเรื่องวิชาการ หลักสูตรในภาพรวมของทั้งประเทศ มีบุคลากรกว่า 200 คน แต่หลังจากประกาศใช้โครงสร้างกระทรวงใหม่ กรมวิชาการถูกยุบเป็นสำนักภายใต้ สพฐ. มีบุคคลากรประมาณ 160 คน แต่มีบุคลลากรที่ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาหลักสูตรโดยตรงแค่ 8 คนซึ่ง กำลังคนเท่านี้ ไม่เพียงพอจะจัดระบบบริหารจัดการหลักสูตรตามหลักสากล โดยปกติจะครอบคลุมงาน 4 ด้านหลัก คือ วิจัยและพัฒนาหลักสูตร , พัฒนาครูประจำการให้พร้อมสำหรับหลักสูตร , ศึกษา วิจัย ติดตามผลนำหลักสูตรไปใช้ ผู้เรียนได้ตามสมรรถนะตามที่กำหนดในหลักสูตรหรือ และสร้างแบบทดสอบขึ้นมาประเมินผลหลักสูตรที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน เพื่อปรับปรุงหลักสูตรเป็นระยะทุกวันนี้ ของบ้านเราทำแค่เรื่องการเขียนหลักสูตรเป็นหลักเท่านั้น เพราะกรมวิชาการหายไป”นางสิริกร กล่าว
นางสิริกร กล่าวต่อว่า การฟื้นกรมวิชาการขึ้นมาใหม่ จะทำให้มีหน่วยงานดูแลเรื่องหลักสูตรในภาพรวมอย่างครบวงจร และจะโยกให้กรมวิชาการไปขึ้นอยู่กับสถาบันวิจัยระบบการศึกษา ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ขององค์กรใหม่ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ คือ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หรือ ซุปเปอร์บอร์ด , สำนักงานหลักประกันการศึกษาแห่งชาติ (สปสช.ด้านการศึกษา ) และสถาบันวิจัยฯ เมื่อกรมวิชาการไปอยู่ภายใต้กำกับของสถาบันวิจัยการศึกษาแล้ว จะทำให้การดูแลเรื่องหลักสูตรครบวงจรทั้งการพัฒนา วิจัยและประเมินผลของหลักสูตร
“ความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมา คือ การไปยุบกรมวิชาการ เพียงสำนักใน สพฐ.ไม่มีบทบาท อำนาจหน้าที่จะไปดูแลโรงเรียนอื่นๆ นอกสังกัด สพฐ.ได้ อีกทั้ง ยังมีความจำเป็นต้องมีหน่วยงานวิจัยหลักสูตรอย่างครบวงจรและเป็นระบบ ให้ได้เกิดผลที่เกิดกับผู้เรียนที่ชั้นเรียน แต่พอมันขาดวงจรตรงนี้ นี่คือเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้การปฏิรูปการเรียนรู้ไม่อาจเกิดผลที่โรงเรียนได้ เพราะไม่มีหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบด้านการวิจัยและพัฒนาคุณภาพวิชาการ”นางสิริกร กล่าวและว่า ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังเตรียมเสนอปรับแก้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหมวด 4 มาตราที่ 2 โยกอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหลักสูตรแกนกลางออกจากคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)ไปอยู่ที่ซุปเปอร์บอร์ด และสถาบันวิจัยการศึกษาด้วย เพื่อจะได้ดูแลงานวิชาการของทั้งประเทศ
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 16 มีนาคม 2558