ผู้ปกครองจ๊าก!กวดวิชาขึ้นค่าเรียนสะท้อนการศึกษาไทยเหลว
โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์
มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบให้เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% กับโรงเรียนกวดวิชา โดยอ้างเหตุผลว่ามุ่งทางการค้าแสวงหากำไร จึงต้องสร้างความเป็นธรรมให้ทัดเทียมธุรกิจอื่น ส่งผลให้บรรดาโรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งเตรียมขยับขึ้นค่าเรียนตาม
รัฐบาลคาดการณ์หากถอนขนห่านธุรกิจติวเตอร์นี้ได้ จะมีเงินไหลเข้ารัฐปีละ 1,200 ล้านบาท จากโรงเรียนกวดวิชาที่จดทะเบียนกับทางการ 2,379 โรงเรียน แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร (กทม.) 549 แห่ง ภูมิภาค 1,830 แห่ง
ตามขั้นตอนคาดว่า ปีหน้าจะเริ่มขึ้นค่าเรียนได้ เพราะต้องให้มีการออกกฎหมายการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาก่อน
เสียงสะท้อนจากเจ้าของโรงเรียนกวดวิชาอย่าง อนุสรณ์ ศิวกุล นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา หรืออาจารย์เจี๊ยบ จากโรงเรียนกวดวิชาชื่อดัง “เคมี อ.อุ๊” ระบุว่า การเก็บภาษีครั้งนี้กระทบต่อโรงเรียนกวดวิชาแน่นอน ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องผลักภาระให้ผู้ปกครองทั้งที่ไม่อยากขึ้นค่าเรียน แต่เพราะกรมสรรพากร จึงทำให้ต้องทำแบบนี้
อีกด้านถ้าไม่ขึ้นค่าเรียนก็อาจมีโรงเรียนกวดวิชาบางแห่งยุบสาขา หรือล้มหายไปเพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยอดผู้เรียนลดลงอย่างต่ำ 20% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภคจึงลดลงไปด้วย
“เมื่อ ครม. มีมติเห็นชอบแล้ว ตอนนี้ทำได้เพียงแค่รอว่าจะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้ใช้กฎหมายนี้เมื่อไหร่เท่านั้น ส่วนตัวคิดว่าการเก็บภาษียังไม่ควรเริ่มเร็วๆ นี้ เร็วสุดก็น่าจะเป็นปีหน้า เพราะยังติดกฎระเบียบอีกมากมายซึ่งยังไม่มีความชัดเจน เช่น การทำบัญชีในกรณีที่บางโรงเรียนมีถึง 20-30 สาขา จะต้องทำอย่างไร”
อนุสรณ์ ระบุว่า กลุ่มที่โดนเก็บภาษีครั้งนี้เป็นกลุ่มที่ปฏิบัติตามระเบียบ มีฐานข้อมูลในรายชื่อของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ส่วนกลุ่มติวเตอร์ที่รับสอน ซึ่งไม่เคยเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ต้นทุนก็ไม่ต้องลง ทุกวันนี้ก็อยู่รอดปลอดภัย ไม่ต้องเสียภาษี นี่คือสิ่งที่รัฐบาลควรทำก่อนเป็นอันดับแรกๆ แต่ทำไมถึงยังไม่ทำ
เขาบอกว่า ความจริงปัญหาเรื่องการศึกษามีมาในหลายยุคหลายสมัยแล้ว แต่รัฐบาลชุดก่อนไม่ได้แก้ปัญหาโดยใช้แนวทางจัดเก็บภาษีอย่างนี้ เพราะเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ต้นเหตุจริงๆ อยู่ที่ระบบการศึกษาที่ยังต้องพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพให้ทั่วถึง
“ต่อให้ไม่มีโรงเรียนกวดวิชา ทุกคนก็จะแสวงหาสิ่งที่ทำให้เกิดคุณภาพต่อตัวผู้เรียนอยู่ดี ซึ่งส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอยู่ดี หรือจะบอกว่าตัดโรงเรียนกวดวิชา แล้วให้โรงเรียนในระบบสอนพิเศษเย็นกับวันเสาร์ไปด้วย กลายเป็นว่าโรงเรียนในระบบก็ทำหน้าที่กวดวิชาไปด้วย อย่างนี้ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาอีก เป็นเพียงแค่ย้ายปัญหาจากอีกที่ไปสู่อีกที่ กลายเป็นว่าระบบยิ่งแย่เข้าไปใหญ่”
นายกสมาคมโรงเรียนกวดวิชา ยืนยันว่า มาตรการขึ้นภาษีนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างที่ต้องการสร้างกำแพงสกัดกั้นอย่างหลายคนเข้าใจได้ เพราะสุดท้ายคนที่มีเงินก็จะหันไปจ้างครูมาสอนบุตรหลานแบบส่วนตัว หรือส่งไปเรียนกับกลุ่มเล็กๆ ซึ่งมีราคาแพงกว่าเรียนกวดวิชาด้วยซ้ำ
“ถ้าบอกว่าการเก็บภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำจึงเป็นวาทะที่ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า คุณกำลังมองประเด็นนี้เป็นเรื่องการแยกชั้นวรรณะ ฐานันดรของผู้เรียน ลองไปดูทุกวันนี้กระทรวงศึกษาฯได้งบ 4 แสนล้านบาท/ปี แต่คุณภาพการศึกษายังไม่ดีเท่าที่ควร แล้วการเก็บภาษีส่วนนี้จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามที่บอกได้จริงหรือ ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้นได้” นายกสมาคมโรงเรียนกวดวิชา กล่าว
ขณะที่ มนตรี นิรมิตศิริพงศ์ หรือ “อาจารย์ช้าง” ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกวดวิชา “วีบายเดอะเบรน” (We by The Brain) ยักษ์ใหญ่กวดวิชาอีกแห่ง ระบุว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องค่าเรียนที่จะสูงขึ้น แต่เชื่อได้ว่าทางโรงเรียนกวดวิชาจะไม่ผลักภาระมายังผู้ปกครองหรือเด็กให้มากจนเกินไป
“อย่าลืมว่าโรงเรียนกวดวิชามีอยู่หลายที่ ถ้าขึ้นราคาแพงเกิน คนก็จะไปเรียนที่อื่นกัน แต่ในส่วนของโรงเรียนวีบายเดอะเบรน ถ้ายังคงแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและบริหารต่อไปได้ ก็อาจไม่ขึ้นราคาค่าเล่าเรียน แต่ทุกอย่างเป็นเรื่องอนาคต”
มนตรี ระบุว่า อย่ามองว่าโรงเรียนกวดวิชาร่ำรวย มีกำไรมหาศาล ในทางกลับกันหลายแห่งลงทุนสูง อย่างเช่น ตัวเขาทำโรงเรียนกวดวิชามา 28 ปี มีทั้งหมด 33 สาขา จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่กำไรจะสูงมากตามการลงทุนที่มีมากเช่นกัน ที่สำคัญกำไรที่เก็บนั้นก็ต่ำกว่า 20% ตามข้อกำหนดของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.)
“หากทำโรงเรียนกวดวิชาแล้วได้กำไรมหาศาล ป่านนี้ก็คงมีคนสนใจลงทุนมากมาย แต่ถ้าสังเกตให้ดี คนที่มาเปิดโรงเรียนกวดวิชาล้วนแต่เป็นครูที่ใจรักในการสอน ดังนั้นธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาจึงไม่ได้มุ่งเน้นกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการบริการสังคมเพื่อขยายการศึกษา”
เขาบอกว่า ที่ผ่านมามีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บอกว่าไม่ควรเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา เนื่องจากจะทำให้การเข้าถึงแหล่งความรู้ของชนชั้นต่างๆ มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น กลายเป็นว่ามีแต่เฉพาะลูกคนมีเงินเท่านั้นที่จะเข้าถึงโรงเรียนกวดวิชาได้เท่านั้น” ผู้ก่อตั้ง
ความล้มเหลว ของระบบการศึกษาไทย
เมื่อเริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับ ทั้งเด็กและผู้ปกครองต่างรู้ว่านี่คือช่วงเวลาที่กำลังเดินเข้าไปสู่สนามการแข่งขัน ที่จะสร้างชีวิตที่ดีด้วยหลักประกันด้านโอกาสในการเรียนที่จะต่อยอดไปสู่การหางานในอนาคต
กระนั้นทุกคนตระหนักว่าการเรียนในห้องเรียนไม่ได้เป็นหลักประกันที่สร้างความมั่นใจได้ว่า จะสอบติดเข้ามหาวิทยาลัยดังของรัฐ นี่ทำให้ทุกคนมุ่งมาที่การเรียนกวดวิชา ธุรกิจที่เติบโตขึ้นทุกปี
เหตุผลที่มักจะได้ยินจากนักเรียนนั่นก็คือ เรียนในห้องไม่รู้เรื่อง กลัวไม่ทันคนอื่น หรือถ้าทันเพื่อนอยู่แล้ว ก็เกิดกลัวถูกแซง เรียนได้ที่ 1 ของโรงเรียนเก่าอยู่แล้ว แต่อยากเก่งขึ้นไปอีก เป็นที่ 1 ของโรงเรียนอื่นเพราะเล็งเห็นว่ามาตรฐานแต่ละโรงเรียนแตกต่างกัน
เด็กจำนวนไม่น้อยบอกว่า เมื่อถึงช่วงปิดภาคเรียนพวกเขาต้องอยู่บ้านเฉยๆ เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ กวดวิชาเป็นเหตุผลที่ช่วยให้พวกเขามีข้ออ้างที่ไม่ต้องอยู่บ้านได้ ทำให้พบเจอเพื่อนใหม่ๆ
อีกจำนวนหนึ่งซึ่งมาจากครอบครัวที่มีกำลังทรัพย์มากพอก็มีความเชื่อว่าเรียนเยอะไว้ก่อน คือความได้เปรียบ ไม่สนเรื่องค่าเรียนที่แพงลิ่วนับหลายหมื่นบาทต่อภาคการศึกษาเดียว สูงกว่าค่าเทอมในชั้นเรียนปกติหลายเท่า แต่ก็ตัดสินใจเรียนเพราะเห็นว่าสถาบันบางแห่งมีการสอนสูตรเรียนลัดที่โรงเรียนไม่มีสอน
ที่ทำให้โรงเรียนกวดวิชาในกรุงเทพฯ ตามย่านดังพัฒนาจากตึกไม่กี่ชั้น กลายเป็นตึกสูงใหญ่ที่คลาคล่ำไปด้วยเด็กจำนวนมหาศาลเป็นภาพที่เห็นชินตา
ความต้องการหลายเหตุผลที่ยกมาสอดคล้องกับทิศทางการเจริญเติบโตของธุรกิจนี้ ตามที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณการมูลค่าตลาดธุรกิจกวดวิชาในปี 2558 ไว้ที่ 8,189 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 6.8% สูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาคอื่นๆ
ขณะที่นักวิชาการบางรายอ้างงานวิจัยระบุว่า โรงเรียนกวดวิชาเติบโตจากเมื่อ 2 ปีที่แล้วถึง 200% มีเงินหมุนเวียนในกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท/ปี โดยเฉลี่ยนักเรียนเรียนพิเศษคนละ 7-8 วิชา เพราะต้องการเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง
ประวิต เอราวรรณ์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา ระบุว่า การกวดวิชาจะยังมีอยู่ ตราบที่การศึกษายังเป็นการศึกษาแบบแข่งขัน แพ้คัดออก อยากเป็นผู้ชนะก็ต้องเรียนหนัก ต้องกวดวิชา จนสร้างค่านิยมให้ทั้งผู้ปกครอง นักเรียน เชื่อว่าต้องเข้าสู่การแข่งขันอย่างไม่มีทางเลือกอื่นๆ
ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยระบบการศึกษา อธิบายว่า ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ปัญหาการกวดวิชาที่ไม่ถูกจุด เช่น การปรับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยย้อนกลับไปปี 2549 ระบบเอนทรานซ์ ซึ่งเคยเป็นระบบการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมากกว่า 40 ปี ถูกมองว่าเป็นระบบที่มีข้อเสียหลายด้าน อาทิ เปิดโอกาสให้นักเรียนสอบเพียงครั้งเดียวพร้อมกันทั่วประเทศ จึงพบว่านักเรียนไม่เข้าชั้นเรียนปกติและหันไปกวดวิชาเพื่อแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยอย่างไม่ลืมหูลืมตา
“นักเรียนส่วนใหญ่เริ่มกวดวิชาตั้งแต่เริ่มเรียนมัธยมปลาย ตั้งจุดหมายของชีวิตไว้ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำ ใครที่เคยผ่านระบบเอนทรานซ์มาย่อมจำได้ดีว่า เมื่อถึงฤดูสอบจะสร้างความตึงเครียดให้นักเรียนที่กำลังก้าวเข้าสู่สนามสอบ กระทรวงศึกษาฯจึงเปลี่ยนเป็นระบบแอดมิชชั่น เพื่อแก้ปัญหาและผ่อนคลายบรรยากาศการแข่งขันลง”
ทั้งนี้ สัดส่วนและองค์ประกอบหลักในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย จึงถูกเปลี่ยนเป็นคะแนนผลการเรียนสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) 20% คะแนนการทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป (GAT) และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (PAT) 50% และคะแนนจากการสอบข้อสอบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือโอเน็ต 30%
ความตั้งใจของระบบนี้ถูกออกแบบจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยเพื่อให้ได้ระบบที่ยุติธรรมสำหรับนักเรียน แต่นั่นก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การกวดวิชาก็ยังสูงขึ้น กระทั่งขยายเป็นการกวดวิชาตลอดทั้งปี ไม่ได้กระจุกตัวแค่ช่วงใกล้สอบอีกต่อไปแล้ว
“เราต้องพยายามลดสัดส่วนผู้ที่ต้องการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาลง เพราะการกวดวิชามีต้นสายปลายเหตุมาจากเรื่องนี้ ซึ่งการแก้เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเป็นเรื่องของการปรับทัศนคติต่อระบบการเรียนการสอนทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับอนุบาล ที่ต้องคิดใหม่ว่าไม่ได้ส่งลูกไปเรียนด้านวิชาการ แต่คือการส่งลูกไปเล่น เรียนรู้ตามช่วงวัย ไม่ให้พวกเขามีทัศนคติด้านลบต่อการเรียนตั้งแต่ยังเล็ก แต่ปัจจุบันเด็กถูกกดดันให้มุ่งไปในทางวิชาการตั้งแต่อนุบาล
...เมื่อเรียนไม่ทันคนอื่นก็กลายเป็นไม่พบคุณค่าในตัวเอง ในระดับชั้นที่สูงขึ้นก็เริ่มกลายเป็นเด็กหลังห้อง จนเลิกเรียน ออกกลางคัน นี่เป็นระบบที่ลดทางเลือกของเด็กลง และผลักให้เด็กเข้าสู่การแข่งขัน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ ประเทศฟินแลนด์ต้องใช้เวลาประมาณ 15 ปี เกาหลีใต้ 12 ปี เราจะแก้เรื่องนี้ ต้องให้คนที่เข้าใจการศึกษาเข้ามาวางนโยบาย วางระบบไม่ใช่ให้การเมืองเข้ามาเปลี่ยนแปลง นโยบายเรื่องนี้ทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาล” ประวิต กล่าว
สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาโรงเรียนกวดวิชาแต่ก็ล้มเหลว เพราะทุกครั้งจะการแก้ปัญหานี้มักจะแยกส่วนระหว่างเอกชนซึ่งเป็นโรงเรียนกวดวิชา กับรัฐบาลซึ่งกุมนโยบายการศึกษามาโดยตลอด
“โรงเรียนกวดวิชามีส่วนดีในแง่ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่ระบบการศึกษาไม่สามารถให้คำตอบหรือแก้ไขได้ ปัญหาข้อสอบยาก ออกไม่ตรงกับที่เรียน โรงเรียนกลุ่มนี้มีเทคนิคการสอนที่แก้ปัญหาได้ ทำไมโรงเรียนกวดวิชาจัดการปัญหาให้เด็กได้ แต่โรงเรียนในระบบการศึกษาทำไม่ได้ ครูที่สอนในโรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่ก็เป็นครูในระบบการศึกษามาก่อน นี่จึงเป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวการจัดการศึกษาจนกลายเป็นช่องว่างในการทำมาหากินของโรงเรียนกลุ่มนี้”
สมพงษ์ ยกตัวอย่างว่า ในฝรั่งเศสและเยอรมนีไม่มีโรงเรียนกวดวิชา นโยบายการศึกษาของพวกเขาสอนให้เด็กคิดเป็น แต่ประเทศไทยแม้จะพยายามออกแบบข้อสอบให้คิดวิเคราะห์ แต่เมื่อนโยบายไม่สอดรับกับแนวคิดอย่างเป็นระบบ จึงเป็นช่องทางให้เด็กไปกวดวิชาเพื่อหาเทคนิคและคำตอบสำหรับตอบข้อสอบ ดังนั้น หากจะปฏิรูปการศึกษาและแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็ถึงเวลาที่ต้องดึงโรงเรียนกวดวิชาเข้ามามีส่วนร่วม
กัดฟันส่งลูก เพราะ รร.ด้อยคุณภาพ
ผู้ปกครองต่างเห็นว่าโรงเรียนกวดวิชามีความจำเป็นเพราะการศึกษาในห้องไม่ช่วยอะไรมาก แต่เห็นว่าโรงเรียนกวดวิชาไม่ควรขึ้นค่าเรียน เพราะควรแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมบ้าง
อมรศิริ ดิสสร อาจารย์สาขาวิชาบัญชี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโยลีราชมงคลพระนคร กล่าวว่า ถ้าสถาบันกวดวิชาถูกเก็บภาษีเพิ่มก็คงผลักภาระมาให้ผู้ปกครองแน่นอน ซึ่งทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายของบุตร 2 คน ที่ต้องลงเรียนกวดวิชาเฉลี่ยเดือนละ 4 หมื่นบาท จากวิชาที่ลงเรียน คือ ภาษาอังกฤษ ฟิสิกส์ เคมี วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ราคาคอร์สละ 2,900 บาท เวลาเรียน 15 วัน
“โรงเรียนกวดวิชามีรายได้จำนวนมาก ขณะที่การศึกษาในโรงเรียนรัฐไม่ได้คุณภาพ ข้อสอบมีการเอื้อต่อสถาบันกวดวิชา ทำให้เด็กต้องมาลงเรียนกวดวิชา จึงเป็นสิ่งที่เด็กเลี่ยงไม่ได้เลย”
อมรศิริ กล่าวว่า ปัญหาทั้งหมดเกิดจากต้นตอที่ระบบ เช่น เด็กที่จะสอบเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบ เขาก็ใช้ข้อสอบระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 2 ชั้นปีที่ 3 ชั้นปีที่ 4 และชั้นปีที่ 5 ซึ่งเด็กประถมชั้นปีที่ 6 ไม่สามารถทำได้แน่นอน ถ้าไม่ไปลงเรียนกับสถาบันกวดวิชา เพราะไม่ใช่ระดับความรู้ชั้น ป.6 ดังนั้นการแก้ปัญหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดูแลระบบการศึกษาในโรงเรียน เพื่อไม่ให้ออกข้อสอบเอื้อต่อสถาบันกวดวิชาได้
“ทุกวันนี้มีสถาบันกวดวิชามากมายเกิดขึ้นย่านสยาม จะเห็นว่าเด็กมาลงเรียนแน่นไปหมด เพราะอยากเข้าโรงเรียนดังๆ อย่างเตรียมอุดม สวนกุหลาบ สตรีวิทยา ดังนั้นถ้าไม่แก้ปัญหาให้ตรงจุดนอกจากสถาบันกวดวิชาจะไม่ลดลงแล้ว ยังจะเพิ่มภาระให้ผู้ปกครองมากขึ้น ยิ่งกว่านั้นยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะครอบครัวที่มีรายได้น้อยก็จะเข้าถึงการศึกษายากขึ้นอีก” อมรศิริ กล่าว
วินัยธร ศรีหาคลัง พนักงานบริษัทเอกชน กล่าวว่า ต้องรอดูว่าสถาบันกวดวิชาจะผลักภาระมาให้ผู้ปกครองหรือไม่ เพราะถ้าค่าเรียนสูงเกินไป ผู้ปกครองก็ส่งลูกเรียนเสริมไม่ไหว จะกลายเป็นการส่งลูกเรียนตามมีตามเกิด อยากเรียกร้องให้สถาบันกวดวิชาต้องแบบรับภาระจ่ายภาษีเองบ้างเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม
เขาบอกว่า ปัจจุบันต้องจ่ายเงินค่าเรียนให้หลานกวดวิชาระดับชั้น ป. 1 เฉลี่ยเทอมละ 5,000 บาท เพราะก่อนหน้านี้เคยให้เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐ ปรากฏว่าเด็กมีพัฒนาการด้านการศึกษาช้าผิดสังเกตเมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน ผิดจากเด็กที่เรียนโรงเรียนเอกชน ทุกวันนี้ค่าใช้จ่ายของเด็กประถมทุกวันนี้เทียบเท่ากับศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐแล้ว
วินัยธร สรุปว่า ระบบการศึกษาของรัฐไม่ช่วยอะไรเลย ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงบีบให้ผู้ปกครองจำเป็นหาเงินมากขึ้นเพื่อส่งลูกเรียนกวดวิชาให้สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้
เช่นเดียวกับ วิวรณ์ ระคำมา ระบุว่า ปัจจุบันจ่ายค่าเรียนกวดวิชาให้ลูก 5,500 บาท หากเก็บแพงขึ้นก็อาจลดจำนวนวิชาเรียนลง แต่ก็อยากให้เรียนกวดวิชาต่อไป เพราะลูกเป็นเด็กหัวอ่อน บางวิชาก็ตามเพื่อนไม่ทัน การเรียนกวดวิชาจึงจำเป็นมาก
ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์ 16 มีนาคม 2558
จากเนื้อเรื่องด้านบนนี้ คุณครูคิดอย่างไร กับข้อความที่ว่า "ข้อสอบเอื้อต่อสถาบันกวดวิชา ธุรกิจกวดวิชาจึงเจริญเติบโต" ?
-ครูบ้านนอกเชื่อว่าความคิดเห็นของคุณครู ชี้นำสังคมไทยได้-