สั่งปรับลดกิจกรรม นร.หลังพบเบียดเวลาเรียน 82 วันจาก 200 วัน
สพฐ.ปรับลดกิจกรรม นร.หลังพบนักเรียนถูกพาไปร่วมกิจกรรมของหน่วยงานต่าง ๆ ถึง 82 วันใน 67 กิจกรรม จากเวลาเรียนทั้งหมด 200 วัน เตรียมเทียบเชิญเจ้าของโครงการร่วมประชุมปลายเดือนมีนาคมนี้ หวังจัดระบบกิจกรรมให้เป็นหมวดหมู่ และให้เหลือวันทำกิจกรรมแค่ร้อยละ 10 หรือ 40 วัน
นายกมล รอดคล้าย เลาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมปรับลดกิจกรรมนักเรียนลง หลังมีผลศึกษาพบว่า เวลาเรียนซึ่งมีอยู่ปีละ 200 วันนั้น นักเรียนต้องไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ถึง 82 วัน เพราะแต่ละปีมีกิจกรรมมจากหน่วยงานต่าง ๆ ให้นักเรียนร่วมถึง 67 กิจกรรม อย่างไรก็ตาม โดยหลักวิชาการแล้ว นักเรียนไม่ควรใช้เวลาเรียนไปทำกิจกรรมอื่นๆ เกินร้อยละ 10 ของเวลาเรียนทั้งหมด หรือ คิดเป็น 40 วัน และนี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลการเรียนของเด็กไม่สูงตามที่เราตาดหวัง สพฐ.จึงต้องการลดทอนกิจกรรมเหล่านี้ลงเพื่อคืนเวลาเรียนให้เด็ก
สำหรับกิจกรรมที่นักเรียนต้องเข้าร่วมในแต่ละปีนั้น จะแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ประเภทแรก เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับนักเรียนโดยตรงหรือเกี่ยวข้องกับวิชาเรียน อาทิ กิจกรรมสร้างเสริมสุขอนามัย รณรงค์ส่งเสริมคุณธรรม กิจกรรมปลูกป่าพัฒนาสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน ค่ายวิทยาศาตร์ ส่วนประเภทที่ 2 เป็นกิจกรรมช่วยงานหน่วยงานภายนอก เช่น รณรงค์เลือกตั้ง กิจกรรมประจำปีของจังหวัดซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเรียนของเด็ก หรือการเกณฑ์เด็กไปร่วมกิจกรมการจัดงานต่าง ๆ เพราะให้ดูเหมือนมีคนไปร่วมงานจำนวนมาก และประเภทที่ 3 เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับการประเมินต่าง ๆ ซึ่งกำหนดไว้ว่า จะใช้เวลาไม่เกิน 9 วัน แต่ในทางปฏิบัติต้องมีการเตรียมความพร้อมรับการประเมินเป็นเดือน กระทบต่อเวลาเรียนของเด็ก
"ปลายเดือน มี.ค.นี้ สพฐ.จะเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทั้ง 67 โครงการ มาประชุมหารือร่วมกัน เพื่อหาทางปรับลดเวลาการทำกิจกรรมเหล่านี้ให้เหลือไม่เกิน ร้อยละ 10 เพื่อที่เด็กจะได้มีเวลาเรียนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าสพฐ.จะเลิกกิจกรรมเหล่านี้ทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นกิจกรรมที่ดี แค่จัดระบบใหม่ แบ่งหมวดหมู่ให้ชัด เช่น หมวดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ หมวดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม แล้วบูรณาการกิจกรรมประเภทเดียวกันจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ถ้าทำอย่างนี้จะช่วยลดเวลาทำกิจกรรมไปได้มาก แต่ทุกวันนี้หน่วยงานเจ้าของกิจกรรมไม่ค่อยคุยกัน ต่างคนต่างมา อาทิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หน่วยงานภายในมีกิจกรรมที่หลากหลายมาก ถ้าเป็นไปได้อยากให้บูรณาการกิจกรรมเข้าด้วยกัน หรือกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ก็มีโครงการทำนองนี้จากหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการรัฐสภา ทุกหน่วยงานก็อยากเอาเด็กเป็นเป้าหมาย แต่ไม่ได้นึกว่าจะทำให้เด็กเสียเวลาเรียน ซึ่งจริงๆ ทุกกิจกรรมก็พาเด็กไปทำเรื่องดีๆ แต่ถ้ามากเกินไปก็ทำให้เด็กเสียเวลาเรียน” นายกมล กล่าวและว่า กิจกรรมบางประเภท เช่น การแข่งกีฬา อาจจะให้จัดในช่วงปิดภาคเรียนแทน ที่สำคัญในช่วงเดือนที่นักเรียนสอบ จะไม่ให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 16 มีนาคม 2558