วันนี้(10มี.ค.)ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ โฆษกกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้แถลงข่าวเรื่องที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ได้นำเสนอร่างรายงานยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ ต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นทั่วไปก่อนไปจัดทำรายละเอียดมานำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบต่อไป
ดร.อมรวิชช์ กล่าวว่า ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน รองประธานกรรมาธิการ ได้นำเสนอหลักการของการปฏิรูปการศึกษาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อชีวิตคนทั้งประเทศและต่ออนาคตของสังคมไทย จึงจำเป็นต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ทั้งระบบเพื่อสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศในอนาคตที่จะมีการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูงและต้องสร้างความมั่นคงทางสังคมไปพร้อมกัน โดยวางเป้าหมายการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทยทั้ง70ล้านคน ให้เป็นกำลังในการพัฒนาประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนาคต จากนั้น รศ.ประภาภัทร นิยม เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ได้นำเสนอสาระสำคัญการปฏิรูปที่เน้นการแก้ปัญหาที่ต้อตอ คือ ระบบอำนาจแบบรวมศูนย์ของกระทรวงศึกษาธิการที่ขาดทั้งธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อผลการจัดการศึกษา โดยแผนยุทธศาสตร์ที่นำเสนอจะเน้นการกระจายอำนาจเป็นหัวใจควบคู่การปฏิรูปที่เป็นคานงัดสำคัญสามเรื่อง
“ เรื่องที่ 1 คือ การปฏิรูประบบการบริหารจัดการที่มุ่งกระจายอำนาจสู่ฐานพื้นที่จังหวัด ท้องถิ่น และสถานศึกษา โดยจะผลักดันให้มีเครือข่ายสมัชชาพลเมืองทุกพื้นที่ร่วมสนับสนุนและตรวจสอบธรรมาภิบาลการจัดการศึกษาทุกระดับ 2.การปฏิรูประบบการเงินการคลัง ที่มุ่งกระจายงบประมาณการศึกษาลงสู่ผู้เรียนและสถานศึกษาโดยตรงที่จะปูทางไปสู่ระบบการประกันโอกาสการศึกษาเช่นเดียวกับระบบประกันสุขภาพของประเทศ และ 3.การปฏิรูประบบการเรียนรู้ที่เน้นทั้งการปฏิรูปหลักสูตรกระบวนการเรียนรู้จากชีวิตจริงเพื่อการเรียนที่มีความหมายใช้ประโยชน์ได้ในการใช้ชีวิตและการทำงานตามบริบทของพื้นที่ โดยเน้นเรื่องการปฏิรูประบบการผลิตพัฒนาครูคุณภาพเป็นหัวใจสำคัญ” ดร.อมรวิชช์ กล่าว
ดร.อมรวิชช์ กล่าวต่อไปว่า สมาชิกสปช.47 คน ได้ช่วยกันเสนอแนะแนวทางปฏิรูปทั้งในเชิงประเด็นปัญหาเฉพาะและในเชิงโครงสร้างระบบและกลไกที่จะเป็นจุดเปลี่ยนในระยะยาว ทั้งนี้สมาชิกสปช.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวคิดการปฏิรูปที่คณะกรรมาธิการเสนอ โดยเฉพาะเป้าหมายของการจัดการศึกษาตลอดชีวิตแก่คนไทยทุกช่วงวัย เพิ่มความหลากหลายของการเรียนรู้และผู้จัดการศึกษา เน้นความรู้ที่มีความหมายกับชีวิตจริง ไม่ใช่แค่การเรียนแต่วิชาการ พร้อมทั้งต้องเน้นเรื่องการนำหลักศาสนาและคุณธรรมจริยธรรมมาเป็นหลักในการออกแบบการเรียนรู้ใหม่ด้วย นอกจากนี้ยังมีสมาชิก สปช. จำนวนมากเน้นย้ำเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในโอกาสผ่านวิธีการจัดสรรงบประมาณใหม่แก่ผู้เรียน การพัฒนาครูรุ่นใหม่และครูประจำการให้เป็นครูชั้นยอดที่สามารถทุ่มเทเวลาให้แก่การสอนอย่างเต็มที่ การพัฒนาสื่อการเรียนรู้สมัยใหม่แก่ผู้เรียน การแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท การพัฒนาเด็กเล็ก ตลอดจนการทุ่มเทพัฒนาการเรียนสายอาชีพร่วมกับเอกชนอย่างจริงจัง
“ ในการอภิปรายยังได้มีการเสนอประเด็นสำคัญเกี่ยวกับระบบและกลไกที่จะเป็นคานงัดการปฏิรูปโดยเฉพาะการมีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติขึ้นมากำกับกระบวนการปฏิรูปการศึกษา การปรับเปลี่ยนบทบาทและอำนาจรัฐในการกระจายอำนาจและการวางระบบงบประมาณการศึกษาใหม่ ตลอดจนการผลักดันกองทุนสนับสนุนการปฏิรูป และหน่วยงานอิสระหลายหน่วยให้เตรียมพร้อมรับภารกิจต่างๆ ได้แก่ การวิจัยระบบการศึกษา การพัฒนาเครือข่ายสมัชชาการศึกษาภาคพลเมือง ตลอดจนการหนุนเสริมการทำงานของสภาการศึกษาจังหวัดที่มีองค์กรอย่างเช่น สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ขับเคลื่อนอยู่แล้ว และกำลังรอการผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้ ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) รวมทั้ง ร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ซึ่งจะเป็นกองทุนสำคัญอีกกองทุนหนึ่งด้วย ทั้งนี้คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาฯ จะต้องทำงานร่วมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปอีกหลายคณะที่เกี่ยวข้อง เช่น การปกครองท้องถิ่น การเงินการคลัง สื่อ และสาธารณสุข เป็นต้น ก่อนจัดทำรายละเอียดแผนปฏิรูปการศึกษาและมาตรการต่างๆมาเสนอสปช.เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป”ดร.อมรวิชช์ กล่าว
ที่มา เดลินิวส์ วันอังคาร 10 มีนาคม 2558