สปช.รับทราบรายงาน กมธ.ปฏิรูปการศึกษา พบวันเรียน 200 วัน ครูหายไปทำกิจกรรมอื่น 84 วัน แนะแก้ปัญหามีกลไกพิเศษนอก ศธ.ภายใต้กำกับของนายกฯ ชี้ต้องกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา แก้ปัญหา"แป๊ะเจี๊ยะ"
ที่รัฐสภา วันที่ 10 มี.ค.58 ผู้สื่อข่าวรายงานในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานา สปช.เป็นประธานการประชุม ได้รับทราบรายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เรื่องยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนามนุษย์
โดยมี นางประภาภัทร นิยม เลขานุการกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชี้แจงว่า จากสภาพการณ์ด้านการศึกษาของไทยที่ผ่านมา พบว่ายังขาดการวางระบบหรือกลไกความรับผิดชอบของผู้สอน และผู้เรียน รวมถึงสถาบันการศึกษา ซึ่งผลการสำรวจของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) ระบุว่า ในจำนวนวันเรียน 200 วัน ครูหายไปทำกิจกรรมอย่างอื่นประมาณ 84 วัน ทำให้ผู้เรียนไม่ได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ ขณะที่ผู้เรียนก็ถูกเน้นให้เป็นผู้ถูกติวมากกว่าทักษะการเรียนอย่างเข้าใจ รวมถึงปัญหาสังคม เช่น ท้องวัยใส ปัญหายาเสพติด
ขณะเดียวกัน ปัญหาการศึกษาอาชีวะของไทยยังถูกมองข้ามไม่ให้ความสำคัญ หรือแม้แต่ผู้ที่จบการศึกษาแล้ว ยังพบว่าขาดทักษะที่เพียงพอต่อการทำงาน รวมไปถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาการศึกษาของไทยในเชิงระบบ
นางประภาภัทร กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาเชิงประเด็น จากการสำรวจของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่าประเทศไทย ใช้งบประมาณเป็นอันดับ 2 เพื่อการศึกษา แต่ไม่เกิดการพัฒนาด้านการศึกษา ซึ่งไทยกำลังเผชิญปัญหาที่ลึกกว่าปรากฎการณ์ในอดีต จึงต้องเร่งแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง ดังนั้น การแก้ปัญหาต้องแก้ไขที่โรงเรียนและห้องเรียนจะต้องไม่แออัด ให้มีจำนวนผู้เรียนแต่ละห้องเรียนที่เหมาะสม การสร้างครูที่มีศักดิ์ศรี มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู และเป็นโรงเรียนบ่มเพาะเด็กเยาวชนได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่การจัดสรรบุคลากร การจัดการเรื่องงบประมาณ และด้านวิชาการ รวมถึงต้องส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ขณะที่แผนยุทธศาสตร์พัฒนากำลังคนต้องรองรับความหลากหลายของอาชีพด้วย ทั้งนี้ความเป็นไปได้การปฏิรูประบบการศึกษาทั้งเชิงระบบและเชิงประเด็นนั้น สามารถทำได้ โดยให้มีกลไกพิเศษอยู่นอกระบบกระทรวงศึกษาธิการ โดยจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายศึกษาขับเคลื่อนมนุษย์ ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรีแทน
ด้านนายอมรวิชช์ นาครทรรพ กรรมาธิการฯ ชี้แจงว่าองค์กรส่วนท้องถิ่น ต้องมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยลดค่านิยมทางด้านการศึกษา สนับสนุนให้เด็กมาเรียนกับกลุ่มอาชีวะ ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งหน่วยงานสภาการศึกษาระดับจังหวัดขึ้นแล้วกว่า 10 จังหวัด เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาให้เข้มแข็ง ดังนั้น ครอบครัว ชุมชน องค์กรท้องถิ่นต้องมีการเตรียมความพร้อมและมีกลไกการปฏิรูปในระยะยาว เนื่องจากการศึกษาเป็นเรื่องจำเป็นของสังคมไทยและสามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้
จากนั้นเปิดให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น โดยนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สปช. เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาห้องเรียนและผู้เรียน รวมถึงการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา รวมถึงต้องแก้ปัญหาเรื่องแป๊ะเจี๊ยะ และสนับสนุนงบประมาณการศึกษาเป็นรายหัว ลดการทดสอบ O-NET ให้ทดสอบเฉพาะสมรรถนะหลักของหลักสูตรเท่านั้น และห้ามนำผลงานของเด็กไปประกอบการประมินของผู้บริหาร และต้องให้ผู้เรียนเข้าถึงอุปกรณ์การศึกษามากขึ้น
ส่วนนายเฉลิมศักดิ์ อบสุวรรณ สปช. เสนอให้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการวางยุทธศาสตาร์การศึกษาชาติ เพื่อให้ได้บุคลากรของชาติที่มีคุณค่า และดึงองค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านมาช่วยในการสอนมากกว่ารองรับคุณวุฒิศาสตราจารย์ต่างๆ
อย่างไรก็ตาม หลังสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง จึงถือว่าที่ประชุมได้รับทราบรายงานของ กมธ.ปฏิรูปการศึกษาฯ แล้ว และให้ กมธ.ฯ ไปศึกษาเพิ่มเติม เพื่อนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุม สปช.อีกครั้ง จากนั้นปิดประชุมในเวลา 17:35 น.
ที่มา สยามรัฐ 9 มีนาคม 2558