สพฐ. ขานรับนโยบายนายกฯ ปรับเป้าหมายเด็กอ่าน - เขียนได้ใหม่จาก ป.3 มาเป็น ป.1 โดย 80% ต้องอ่าน - เขียนได้ตามมาตรฐาน โดยจะไม่เร่งรัดจนเกินไป พร้อมปรับแนวทางการสอนภาษาอังกฤษ ของไทยรองรับการประกาศนโยบายให้ภาษอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ในอนาคต
วันนี้ (10 มี.ค.) นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่าจะนั่งเป็นประธานซุปเปอร์บอร์ดด้านการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และได้มอบนโยบายเร่งด่วน 6 เรื่องให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปดำเนินการ ซึ่งหลายเรื่องเกี่ยวข้องกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่ง สพฐ.พร้อมรับและจะปรับการทำงานให้สอดคล้องกับนโยบายนายกฯ โดยเรื่องแรก นายกฯ ระบุว่านักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ต้องอ่านออกเขียนได้ ซึ่ง เดิมนั้น สพฐ. กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่แต่ตั้งเป้าหมายไว้กับนักเรียนในระดับ ป.3 อย่างไรก็ตาม จากนี้จะปรับเป้าหมายการทำงานใหม่เริ่มตั้งแต่ระดับ ป.1 และกำหนดให้ 80% ต้องอ่านเขียนได้ตามมาตรฐานการเรียนการสอนที่กำหนดไว้ ส่วนอีก 20% นั้นจะเป็นกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่อง เช่น ออทิสติก สมาธิสั้น และอีกครึ่งเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ เด็กต่างด้าว ค่อนข้างเป็นเรื่องยากที่จะทำให้อ่านออกเขียนได้เร็วเท่าเด็กปกติ
อย่างไรก็ตาม สพฐ. จะนำนวัตกรรมใหม่ที่แก้ไขปัญหาอ่านออกเขียนได้มาใช้และแจกไปยังโรงเรียนต่างๆ อาทิ การสอนแบบแจกลูกสะกดคำ รวมทั้งจะมีการอบรมพัฒนาครูด้วย ทั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลว่าปกติแล้วเด็กระดับ ป.1 สามารถอ่านออกเขียนได้ภายใน 60 วัน แต่เป็นการอ่านออกเขียนได้ตามมาตรฐานของเด็ก ป.1 เพราะในแต่ละระดับจะกำหนดมาตรฐานไม่เหมือนกัน แต่ยืนยันว่า สพฐ.จะไม่เร่งรัดการสอนเด็ก ป.1 จนเกินไป
นายกมล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ นายกฯ อยากให้ส่งเสริมการเรียนการสอนสายอาชีพให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อไม่ให้เด็กมุ่งแต่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยและเพื่อให้เด็กไทยมีความรู้ในทักษะวิชาชีพด้วย โดยเรื่องดังกล่าว สพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้วางแนวทางการทำงานร่วมกันไว้ 2 แนวทาง คือ 1. สพฐ. เป็นเครือข่ายบ่มเพาะนักเรียนสายอาชีพระดับ ม.ต้น โดยคาดหวังว่าเด็กกลุ่มนี้เรียนจบจะเข้าเรียนต่อสายอาชีพ และ 2. ผู้เรียนในโรงเรียน สพฐ. เรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน และเรียนรายวิชาเพิ่มเติมจากรายวิชาชีพตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เมื่อจบหลักสูตรแล้วผู้เรียนได้รับ 2 วุฒิโดยมีเป้าหมายในกลุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำตำบล โรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์
อย่างไรก็ตาม นายกฯ มีความเป็นห่วงใยเรื่องการพูดภาษาอังกฤษของเด็กไทย จึงอยากให้ ศธ. เร่งปลูกฝังในเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเชื่อว่าในอนาคตรัฐบาลจะต้องประกาศนโยบายให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง เพราะเป็นภาษาสากลที่ทุกคนต้องเรียนและใช้เพื่อการสื่อสารแล้ว โดยนายกฯ ให้ข้อเสนอแนะว่าเด็กไทยควรได้เรียนภาษาอังกฤษกับเจ้าของภาษาโดยตรงเพื่อให้คุ้นกับสำเนียงของเจ้าของภาษา ซึ่งในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของ สพฐ.นั้นก็มีการนำแนวทางของบริติซ เคานซิล จากประเทศอังกฤษมาใช้ และทราบว่ามา รมว.ศึกษาธิการ กำลังหารือกับรัฐบาลประเทศอังกฤษ เพื่อขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และบริติช เคานซิล ให้มาช่วยวางระบบการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษในประเทศไทยทั้งในระบบโรงเรียนและนอกโรงเรียนด้วย เพราะประเทศไทยมีจุดอ่อนในเรื่องนี้ ตนคิดว่าหากวางระบบการเรียนภาษาอังกฤษอย่างจริงจังจะพลิกโฉมการเรียนภาษาอังกฤษของเด็กไทยได้อย่างแน่นอน
ที่มา ASTV ผู้จัดการออนไลน์ 10 มีนาคม 2558