เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารับทราบรายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษา และ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เรื่องยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ โดยนางประภาภัทร นิยม เลขานุการกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชี้แจงว่า จากสภาพการณ์ด้านการศึกษาของไทยที่ผ่านมา พบว่า ยังขาดการวางระบบหรือกลไกความรับผิดชอบของผู้สอน และผู้เรียน รวมถึงสถาบันการศึกษา ซึ่งผลการสำรวจของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) ระบุว่า ในจำนวนวันเรียน 200 วัน ครูหายไปทำกิจกรรมอย่างอื่นประมาณ 84 วัน ทำให้ผู้เรียนไม่ได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่ ขณะที่ผู้เรียนก็ถูกเน้นให้เป็นผู้ถูกติวมากกว่าทักษะการเรียนอย่างเข้าใจ รวมไปถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาการศึกษาของไทยในเชิงระบบ
นายประภาภัทร กล่าวต่อว่า ส่วนปัญหาเชิงประเด็น จากการสำรวจของสถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า ประเทศไทยใช้งบประมาณเป็นอันดับสอง เพื่อการศึกษา แต่ไม่เกิดการพัฒนาด้านการศึกษา จึงต้องเร่งแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง ทั้งนี้ความเป็นไปได้ในการปฏิรูประบบการศึกษาทั้งเชิงระบบและเชิงประเด็นนั้น สามารถทำได้ โดยให้มีกลไกพิเศษอยู่นอกระบบกระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายศึกษาขับเคลื่อนมนุษย์ ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรีแทน
ด้านนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกสปช. เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขปัญหาห้องเรียนและผู้เรียน รวมถึงการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา การแก้ปัญหาเรื่องแป๊ะเจี๊ยะ และสนับสนุนงบประมาณการศึกษาเป็นรายหัว ลดการทดสอบโอเน็ต ให้ทดสอบเฉพาะสมรรถนะหลักของหลักสูตรเท่านั้น และห้ามนำผลงานของเด็กไปประกอบการประมินของผู้บริหาร จากนั้นสมาชิกสปช.อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยที่ประชุมได้รับทราบรายงานของกมธ.ปฏิรูปการศึกษาฯและให้กมธ.ฯไปศึกษาเพิ่มเติม เพื่อนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมสปช.อีกครั้ง
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 มี.ค.2558