นับเป็นข่าวดีจริงๆ สำหรับน้องๆ นักเรียน นิสิตนักศึกษาที่มีความฝันอยากเป็น "คุณครู" แต่อาจจะมีทุนทรัพย์ไม่มากพอ หรือกลัวว่าเมื่อเรียนครูจนจบแล้วอาจจะไม่ได้อัตราบรรจุเป็นครู เพราะล่าสุด พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้รื้อฟื้น "โครงการคุรุทายาท" ให้กลับมาอีกครั้ง โดยในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ.เมื่อเร็วๆ นี่ พร้อมใจกันให้ความเห็นชอบ หลังจากโครงการนี้ได้ยุติไปเมื่อหลายๆ ปีที่ผ่านมา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เห็นดีเห็นงามกับโครงการดังกล่าวด้วย เพราะต้องการให้ ศธ.สร้างคุณครูตั้งแต่เด็ก เพื่อให้ได้ "ครูรุ่นใหม่" ที่มีศักยภาพมาทดแทนครูที่เกษียณอายุราชการ และแก้ปัญหาขาดแคลนครู
สำหรับโครงการคุรุทายาทที่เกิดขึ้นในปีนี้ พ.ศ.นี้ จะยังคงยึดหลักเกณฑ์และหลักการเดิมที่เคยใช้มาในอดีต คือให้ทุนการศึกษาแก่เด็กที่เรียนดีและอยากเป็นคุณครู ให้ได้เข้าเรียนในคณะครุศาสตร์ หรือคณะศึกษาศาสตร์ โดยรับประกันการมีงานทำ แต่เมื่อผู้รับทุนในโครงการนี้เรียนจบแล้ว จะต้องกลับไปบรรจุที่ภูมิลำเนาของตัวเอง
ส่วนรายละเอียดอื่นๆ อาจจะปรับเล็กปรับน้อย โดยที่ประชุมผู้บริหารองค์การหลักของ ศธ.ได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ไปศึกษารายละเอียดให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบ รวมทั้งให้หารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในฐานะที่กำกับดูแลสถาบันที่ผลิตครู รวมถึงต้องหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เกี่ยวกับอัตราว่างที่จะใช้บรรจุครูในโครงการคุรุทายาท โดย พล.ร.อ.ณรงค์ตั้งใจจะทำให้โครงการดังกล่าวเป็นโครงการต่อเนื่องไปเรื่อยๆ
"ตั้งใจจะให้เริ่มรับนักเรียนทุนโครงการคุรุทายาทรุ่นแรกในปีการศึกษา 2558 ที่ ศธ.ฟื้นโครงการนี้เพื่อสนองพระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ทรงทำในลักษณะเดียวกัน โดยพระราชทานทุนให้นักเรียนในโรงเรียนที่พระองค์ทรงดูแลอยู่ได้เรียนจนจบ แล้วกลับมาเป็นครูในโรงเรียนนั้นๆ ขณะเดียวกัน ทุกๆ ฝ่ายเห็นตรงกันว่าต้องการฟื้นโครงการนี้เพื่อส่งเสริมคนดี คนเก่ง และตั้งใจจริง ให้ได้เป็นครูจริงๆ" รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ระบุ
ซึ่ง นายพินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการ สกศ. ได้เตรียมปรับหลักเกณฑ์การให้ทุนในโครงการคุรุทายาทให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน โดยเฉพาะหลักสูตรการผลิตครูที่ต้องพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่ง ศธ.มีแนวคิดแยกหลักสูตรการผลิตครูออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ครูปฐมวัย ครูประถมศึกษา และครูมัธยมศึกษา และมีแนวคิดแยกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูออกเป็น 3 ระดับเช่นกัน รวมทั้งครูอาชีวศึกษา เบื้องต้นจะจัดทำโครงการคุรุทายาท ระยะเวลา 5 ปี โดยคาดว่าจะเปิดรับนักเรียนทุนรุ่นแรกได้ในปีการศึกษา 2558 ซึ่งจะแบ่งการรับทุนเป็น 2 แนวทาง คือ รับนิสิตนักศึกษาที่เรียนคณะครุศาสตร์ หรือคณะศึกษาศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ที่มีผลการเรียนดี และรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีผลการเรียนดี เมื่อเรียนจบแล้วจะมีอัตรารองรับ โดยต้องกลับไปเป็นครูในภูมิลำเนาของตนเอง
สำหรับ "อัตรา" ที่จะใช้ในการบรรจุครูจากโครงการคุรุทายาทนั้น เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายกมล รอดคล้าย ก็ออกมารับลูกทันควัน เพราะมองว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนครูโดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล แจกแจงว่าแต่ละปี สพฐ.จะได้อัตราเกษียณอายุราชการคืนประมาณ 15,000 อัตรา ถ้าจะใช้บรรจุครูจากโครงการคุรุทายาทก็มีอย่างเพียงพอ เพียงแต่ทางโครงการคุรุทายาทต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าต้องการกี่อัตรา ขณะที่ นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้ประกาศพร้อมที่จะกันอัตราว่างสำหรับบรรจุครูจากโครงการคุรุทายาทเช่นกัน เพราะมีอัตราว่างปีละ 300-400 อัตรา
ส่วนความคืบหน้าเกี่ยวกับรายละเอียดการขอทุนโครงการคุรุทายาท หากได้ข้อสรุปเมื่อไหร่ ก็จะรีบนำมาบอกเล่าเก้าสิบให้ทราบในทันที
ที่ม มติชน ฉบับวันที่ 11 มี.ค. 2558 (กรอบบ่าย)