“ครู” เป็นอาชีพที่ต้องใช้ความอดทนและทุ่มเทสูงมาก ความรู้สึกฉาบฉวยที่อยากเป็นครู มารู้ตัวอีกทีว่า “ไม่ใช่อย่างที่ฝัน” ก็อาจจะสายไปเมื่อต้องเรียนไปจนถึงปี 4 และออกไปเป็น “ครูฝึกสอน” แล้ว
แต่มีนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งสามารถสร้างพื้นที่เล็ก ๆ เพื่อให้เพื่อนนักศึกษาเรียนรู้การเป็นครูจริง ๆ ก่อนใคร ภายใต้โครงการ “ครูเพื่อศิษย์” โดยกลุ่มครูอาสา ม.ราชภัฏสงขลา เพื่อตามหาคำตอบ ว่าการเป็นครู “เพราะชอบหรือแค่ใช่”
โครงการครูเพื่อศิษย์ มีแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาของนักศึกษาวิชาชีพครูในปัจจุบันคือ เมื่อจบไปแล้วบางคนไม่สามารถนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติจริง เนื่องจากหลักสูตรการศึกษาที่ผ่านมาเน้นทฤษฎี มากกว่าปฏิบัติ ทำให้นักศึกษาขาด “กระบวนการเรียนรู้” ไม่เกิดความภาคภูมิใจในวิชาชีพครูอย่างเป็นรูปธรรม และขาดจิตวิญญาณความเป็นครู กลุ่มจึงคิดที่จะรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาศักยภาพตนเองและเครือข่ายเพื่อนนักศึกษาครู ด้วยการจัดตั้งกลุ่ม “ครูเพื่อศิษย์” ที่มีขั้นตอนการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะความเป็นครู โดยการจัดอบรมเสวนา จัดกิจกรรมเรียนรู้จากพื้นที่จริง สร้างเพจให้ความรู้เรื่องครูเพื่อศิษย์ เพื่อฝึกทักษะการจัดการเรียนการสอนจากการลงมือปฏิบัติจริง ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น และมีจิตวิญญาณความเป็นครูเพิ่มขึ้น
“ครูที่ดีก็มีเยอะ ครูที่ไม่ดีก็มีเยอะ เราในฐานะนักศึกษาครุศาสตร์เห็นว่าครูที่ไปสอนนำความรู้ที่ได้ไปใช้ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ได้ถ่ายทอดคุณธรรม ไม่รักในวิชาชีพครู พวกเราเป็นแกนนำนักศึกษาอยู่ จึงรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างผู้นำนักศึกษาวิชาชีพครูที่จะไปเป็นครูในวันข้างหน้า เพราะครูสอนตามหลักสูตรเท่านั้น ความเป็นความตายของชาติอยู่ในมือครู จึงอยากเสริมสร้างกลุ่มให้เข้มแข็ง” นายกรวิชญ์ มหาวงค์ หนึ่งในแกนนำกล่าว
นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 37 คน ไปฝึกสอนที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านบาโรย อ.สะเดา จ.สงขลา โดยมีกิจกรรมจัดการเรียนการสอนทั้ง 7 กลุ่มสาระให้กับนักเรียนระดับอนุบาล 1-ประถมปีที่ 6 กิจกรรมมีแค่สองวันผ่านพ้นไปแล้ว แต่ได้สร้างความประทับใจและสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นภายในจิตใจนักศึกษา ฟังเสียงสะท้อนการเข้าร่วมโครงการของนักศึกษาว่านี่คือขั้นบันไดสู่ความเป็นครู
มิว-นิภาวรรณ ทองจินดา คณะครุศาสตร์ บอกว่า การเป็นนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง ไม่มีประสบการณ์การสอนมาก่อนเลย แต่สิ่งที่ได้คือ การที่เราได้ไปลงมือทำ ได้ปฏิบัติจริง ได้นำตัวตนของเราออกไปใช้กับนักเรียน ถ้าเราเรียนในห้องเรียนเราจะไม่รู้ หรือไม่ก็ได้ทำตอนที่เราอยู่ในปีสุดท้าย การเข้าร่วมโครงการนี้จึงเปรียบเป็นบันไดขั้นที่หนึ่งสู่การเป็นครูที่ดี เป็นเทียนเล่มหนึ่งที่จะเป็นแสงส่องสว่างต่อไปได้
รุ่ง-นางสาวรุ่งฤดี หนูม่วง อายุ 21 ปี 2 เอกคณิตศาสตร์ กล่าวว่า ตอนเตรียมสื่อการสอนก็ทำในฐานะนักศึกษาครูไม่ได้รู้สึกอะไรมากมาย คิดว่าเรามาหาประสบการณ์ แต่เมื่อเริ่มเข้าห้องเรียน รู้สึกว่าเด็กทุกคนอยู่ในความรับผิดชอบของเรา ทุกอย่างในห้องเรียนคือความรับผิดชอบของเรา ทำให้เราเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
ไม่ใช่แค่เรียนจบสายนี้ แต่ “ชอบหรือใช่” จะส่งผลให้คนที่จะออกไปเป็นครูมีจิตวิญญาณความเป็นครูที่แท้จริง และการเปิดพื้นที่เรียนรู้ความเป็นครูเพื่อศิษย์ตั้งแต่เรียนปีแรก ๆ จะช่วยครูได้ค้นพบตัวตนของตนเอง.
สาวสายเดี่ยว
ที่มา เดลินิวส์ วันอาทิตย์ 8 มีนาคม 2558