วันนี้ (7 มี.ค.) ที่สนามสอบโรงเรียนฤทธิยะวรรณาลัย นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วย ศ.(กิตติคุณ) ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และ รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. และศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการทดสอบวัดความถนัดทั่วไป หรือGAT และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ หรือPAT ครั้งที่ 2/2558 ซึ่งสอบพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 7-10 มีนาคม ผู้มีสิทธิสอบจำนวน 184,092 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้มีสิทธิ์สอบที่มีความต้องการพิเศษ หรือ ผู้พิการทางสายตาและพิการทางร่างกาย จำนวน 19 ราย ผู้มีสิทธิ์สอบที่อายุมากที่สุด 3 ลำดับ ได้แก่ อายุ 59 ปี สอบ 3 วิชา ได้แก่ PAT 2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ PAT 3 ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ และGAT ความถนัดทั่วไป ที่จังหวัดมหาสารคาม อายุ 52 ปีสอบ PAT 7.4 ความถนัดทางภาษาจีน ที่จังหวัดนนทบุรี และอายุ 50 ปีสอบ PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ จังหวัดสระแก้ว
โดย นายกฤษณพงศ์ กล่าวว่า ภาพรวมการจัดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อยยังไม่ได้รับรายงานการทุจริต โดยตลอด 4 วันจะจัดสอบวันละ 2 วิชาๆละ 3 ชั่วโมง ซึ่งวันแรกช่วงเวลา 08.30-11.30 น. สอบ GATความถนัดทั่วไป และช่วงบ่าย เวลา 13.00-16.00 น.สอบ PAT 1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การสอบครั้งนี้เน้นความโปรงใส และเข้มงวดมาตรการป้องกันการทุจริต และที่ผ่านมาส ทศ. ก็ได้ลงโทษนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ถ่ายภาพหน้าปกข้อสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติพื้นฐานหรือ O-Net วิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และโพสต์ลงในอินสตาแกรม หรือ ไอจีส่วนตัว ไปแล้วโดยการไม่ตรวจกระดาษคำตอบในวิชานั้น พร้อมส่งชื่อให้สถานศึกษาต้นสังกัด และมหาวิทยาลัยที่นักเรียนรายดังกล่าวเลือกเรียน เพื่อให้ใช้ประกอบการพิจารณาเข้าเรียนต่อ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นตัวอย่างว่า ใครทำอะไรก็จะได้รับผลอย่างนั้น จึงอยากให้นักเรียนตั้งใจทำข้อสอบด้วยความโปร่งใส
ด้าน รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า จากนี้ไปหากผู้เข้าสอบนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องสอบ และมีการโพสต์ข้อความต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสอบที่จัดโดย สทศ. จะถือว่ามีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริต ฝ่าฝืนระเบียบ สทศ. ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการทดสอบ พ.ศ.2557 ซึ่งมีโทษตั้งแต่ไม่ตรวจกระดาษคำตอบในวิชาที่ทุจริต หรือทุกวิชา และจะส่งชื่อให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่จะสมัครเข้าเรียน และหากทำให้เกิดผลกระทบกับระบบการจัดสอบ ก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย และเพื่อเน้นย้ำ สทศ.ได้จัดทำป้ายคำเตือนให้ทุกสนามสอบติดบริเวณหน้าห้องสอบด้วย
ศ.ดร.ประสาท กล่าวว่า ที่ผ่านมาทปอ.ทำความร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) เรื่องการต่อต้านการทุจริตในมหาวิทยาลัย ดังนั้น นิสิต นักศึกษาทุกคนจะต้องไม่ทุจริตในทุกรูปแบบ ส่วนกรณีที่ สทศ.จะส่งรายชื่อนักเรียนที่ทำการทุจริตหรือฝ่าฝีนระเบียบ สทศ.ให้มหาวิทยาลัยที่นักเรียนจะเข้าเรียนด้วยนั้น คาดว่ามหาวิทยาลัยต่าง ๆน่าจะพิจารณาข้อมูลส่วนนี้ประกอบการตัดสินใจคัดเด็กด้วย แต่คงจะไม่ไปตัดสิทธิ์เด็กตั้งแต่แรก เพราะเราต้องเปิดโอกาสเด็กทุกคนได้เข้าเรียน แต่จะต้องมีการติดตาม เพื่อไม่ให้กระทำผิดซ้ำอีก
ขณะที่ นายสหัส ภัทรฐิตินันท์ ประธานศูนย์สอบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) กล่าวว่า การจัดสอบทั้งหมดของสทศ. ในปีนี้จะไม่ให้นำเครื่องมือสื่อสารเข้าห้องสอบโดยเด็ดขาด ซึ่งเป็นเรื่องยากหากเด็กจะแอบนำเข้าไป แต่ถ้าพบถือว่าทำผิดกติกาถูกลงโทษทันที อย่างไรก็ตาม ในการเข้าสอบยังพบปัญหาเดิม ๆคือเด็กลืมบัตรประจำตัวที่สามารถแสดงตัวตนมาเข้าสอบ ทั้งที่มีการเตือนกันมาตลอด แต่ต้องขอย้ำไม่ให้เด็กลืม เพราะจะทำให้เสียสิทธิ์ในการเข้าสอบได้
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 มีนาคม 2558