สุรวาท ทองบุ
คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
ในระหว่างที่มีการปฏิรูปประเทศไทย โดยแม่น้ำทั้ง 5 สาย ได้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.)
องค์การ สถาบัน เครือข่ายและหน่วยงาน หลายหน่วยงานได้ทำการเสวนา ศึกษา ประชุมสัมมนาเพื่อหาแนวทางปฏิรูปประเทศ ให้หลุดพ้นกับการขัดแย้ง ให้เกิดความปรองดอง ลดความเหลื่อมล้ำ สมานฉันท์ มีความมั่นคง ก้าวเดินไปข้างหน้าได้ มีความเข้มแข็ง มีขีดความสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในอาเซียนหรือนานาประเทศ ในระยะยาวที่จะช่วยเปลี่ยนผ่านประเทศ การจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยคุณภาพของคนในชาติ และคุณภาพของคน โดยต้องอาศัยเครื่องมือสำคัญ ก็คือ การศึกษา จึงต้องทำการปฏิรูปการศึกษา อย่างเร่งด่วนหรือทำทันทีและสิ่งสำคัญที่จะทำให้ การปฏิรูปสำเร็จได้นั้น ก็คือครู
มีการกล่าวถึงและเรียกร้องกันมากในแทบทุกเวทีว่าจะต้องปฏิรูประบบการผลิตครู ให้ได้คนดีคนเก่งมาเรียนครู มีสถาบันการผลิตที่มีความเข้มแข็ง มีกระบวนการเรียนการสอน การพัฒนาทักษะ คุณลักษณะและจิตวิญญาณของความเป็นครู ให้มีความสามารถและทักษะที่จะทำให้ผู้เรียนมีทักษะที่จะอยู่ในโลกศตวรรษที่ 21 นี้ได้ และนำคุณภาพมาสู่ผู้เรียน อันจะนำไปสู่การเป็นพลเมืองไทยที่ดี หรือพลโลกที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะเดียวกันนี้ก็พบปัญหาหนึ่งของการผลิตครูคือ การผลิตที่ยังไม่สอดคล้องกันทั้งปริมาณและคุณภาพของการผลิตกับความต้องการใช้ บางสาขาเกินอย่างมากแต่ยังมีสาขาที่ขาดแคลนอยู่ไม่น้อย และจากข้อมูลครูที่จะเกษียณอายุราชการในรอบ 10 ปีข้างหน้าประมาณ 200,000 คน (สองแสนคน) ทำให้มีผู้สนใจจำนวนมาก เพราะเชื่อว่าจะมีการบรรจุทดแทนจำนวนไม่น้อย ในจำนวนนี้มีแนวโน้มว่าเป็นคนดีคนเก่งมากขึ้นกว่าเดิมจากความสนใจเข้าเรียนจำนวนมากนั้น ทำให้สถาบันฝ่ายผลิต ทานกระแสความต้องการเรียนไม่ได้ จำต้องรับเข้าเรียนจำนวนมาก เป็นเหตุสำคัญทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพให้เข้มข้นได้ เชื่อว่าจำนวนผู้เรียนจะมีมากกว่าความต้องการแน่นอนและจะมีบัณฑิตครูล้นงานจำนวนมาก จึงมีผู้เสนอว่าควรจะมีการผลิตครูในระบบปิด ที่เคยมีมาก่อนตามโครงการ "คุรุทายาท" หรือ "ครูพันธุ์ใหม่ พ.ศ.2547" หรือ "เพชรในตม"
มีหลายคนยังไม่เข้าใจว่าจะเป็นเช่นไร มีผลกระทบกับใคร อย่างไร จึงขอสร้างความเข้าใจต่อไปนี้
1. การผลิตครู "ระบบปิด" หมายถึง การรับบุคคลเข้าศึกษาชั้นปีที่ 1 ตามหลักสูตรการผลิตครู 5 ปีหรือหลักสูตรอื่นๆ ที่คุรุสภาให้การรับรอง ตามจำนวนความต้องการใช้ครูของสถานศึกษาภาครัฐ เมื่อสำเร็จการศึกษาจะมีอัตราข้าราชการครูรองรับและจะได้รับการบรรจุทันที ในระหว่างศึกษาอาจได้รับเงินทุนการศึกษา เป็นค่าธรรมเนียมการศึกษาที่สถาบันการผลิตเรียกเก็บ ค่าอุปกรณ์การศึกษาและค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ สถานศึกษาเอกชน อาจทำความตกลงร่วมมือกับสถาบันฝ่ายผลิต ดำเนินการเช่นเดียวกับภาครัฐได้
2. การผลิตครู "ระบบเปิด" หมายถึง การรับบุคคลเข้าศึกษาชั้นปีที่ 1 ตามหลักสูตรการผลิตครู 5 ปีหรือหลักสูตรอื่นๆ ที่คุรุสภาให้การรับรอง ตามศักยภาพของสถาบันและความต้องการของผู้เรียน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วผู้เรียนจะต้องไปหางานทำหรือสอบบรรจุเข้าประกอบวิชาชีพครู ในสถานศึกษาของภาครัฐที่มีความต้องการครูเพิ่มเติมหรือเอกชน หรือประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเอง โดยให้ถือว่าเป็นความรับผิดชอบต่อการมีงานทำของผู้เรียนและสถาบันการผลิต
3. การคัดเลือกบุคคลเข้าเรียน จะคัดเลือกจากบุคคลที่มีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพครู มีคุณธรรม จริยธรรม และมีบุคลิกภาพเหมาะสมกับการจะเป็นครู มีผลการเรียนหรือคะแนนจากการทดสอบสูง ทำการคัดเลือกร่วมกันของหน่วยงานผู้ใช้ครูและสถาบันฝ่ายผลิต ทั้งนี้ จะมีวิธีการและเครื่องมือที่เชื่อถือได้ในการคัดเลือกและดำเนินการด้วยความสุจริต บริสุทธิ์ และยุติธรรม
4. สถาบันฝ่ายผลิตครูในระบบปิด ได้แก่
4.1 สถาบันที่ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกที่ทำให้ได้สถาบันผลิตที่มีคุณภาพที่สูง ซึ่งให้พิจารณาจากการจัดการเรียนการสอน คณาจารย์ ห้องปฏิบัติการ ทรัพยากร นวัตกรรมและเทคโนโลยี กระบวนการพัฒนาคุณลักษณะความเป็นครู การฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู เป็นต้น หรือ
4.2 เป็นสถาบันในพื้นที่ของสถานศึกษาที่จะรับบรรจุแต่งตั้งหลังสำเร็จการศึกษา ที่มีการพัฒนาจนถึงเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพขั้นสูงตามที่กำหนดเช่นเดียวกับข้อ 4.1 ทั้งนี้ จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในการพัฒนาด้วย
5. สถาบันฝ่ายผลิต จะได้รับการสนับสนุนจัดสรรงบประมาณในการจัดการเรียนการสอน การพัฒนากิจกรรมพัฒนาคุณลักษณะ การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ตลอดทั้งงบประมาณในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันฝ่ายผลิต เป็นกรณีพิเศษ
6. หน่วยงานหรือสถานศึกษาผู้ใช้ครูจะต้องจัดทำข้อมูลความต้องการและจัดเตรียมอัตราไว้รองรับ เป็นการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 ปี ในแต่ละรุ่น
7. สามารถเริ่มดำเนินการรุ่นแรกได้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 โดยผู้เรียนจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2562 และบรรจุเข้าประกอบวิชาชีพได้ในปี พ.ศ.2562 และให้ดำเนินการเช่นนี้ไปอีก จนถึงปีการศึกษา 2568 รวม 10 รุ่น และรวมระยะเวลา 10 ปี
8. ผลกระทบต่อสังคม สถาบัน คณาจารย์ผู้สอน ผู้สำเร็จหรือผู้ที่กำลังเรียนอยู่ก่อนในปัจจุบัน ดังนี้
8.1 สังคมจะได้ครูดีครูเก่งเข้าไปในระบบ ทดแทนครูที่จะเกษียณอายุราชการหรืออายุงาน โดยเริ่มได้ในปี 2562-2571 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 200,000 คน ทั้งนี้ จะมีความต้องการครูลดลงจากจำนวนดังกล่าว อันจะส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียนและจะได้เป็นพลเมืองที่ดีของชาติสืบต่อไป
8.2 ผลดีต่อสถาบันฝ่ายผลิต เนื่องจากจะต้องได้รับผู้เรียนน้อยลง จะได้รับผลกระทบทางบวก ได้แก่ รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณต่อหัวมากขึ้น เป็นกรณีพิเศษ
ดังนั้น จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้มีการพัฒนา จะได้รับค่าการผลิตสูงขึ้นต่อคนต่อปี ภาระงานสอนที่มากอยู่เดิมจะลดลง สามารถเพิ่มคุณภาพการผลิตได้อย่างเต็มที่ แต่หากต้องรับผู้เรียนน้อยลงและรัฐบาลไม่ได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเป็นกรณีพิเศษแต่อย่างใด จะกระทบกับงบประมาณรายรับไม่พอกับรายจ่ายที่มี สถาบันอาจรับผู้เรียนในระบบเปิดเพิ่มได้ หรือหันไปรับผู้เรียนเข้าศึกษาในการผลิตบัณฑิตด้านอื่นแทน
8.3 คณาจารย์ผู้สอนจะสามารถทำงานได้อย่างมีคุณภาพ ครอบคลุมภารกิจอื่น เมื่อมีการนำระบบปิดมาใช้ สำหรับผู้สอนวิชาเอก ภาระงานสอนอาจน้อยลง หากไม่สามารถรับผู้เรียนด้านอื่นมาทดแทน ส่วนผู้สอนในรายวิชาชีพครู จะเป็นโอกาสดีที่คณาจารย์จะได้ทำหน้าที่ในการพัฒนาครู โดยเฉพาะระบบ Browser Inservices แบบ Coaching and Mentoring มาใช้ในการพัฒนา แต่ทั้งนี้ จะต้องได้รับมอบหมายและจัดตั้งงบประมาณในการพัฒนาครูในพื้นที่เขตบริการจากรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ยังมีผู้เรียนอยู่จำนวนมากซึ่งสถาบันยังมีเวลาในการรองรับปัญหาหรือปรับตัวได้ในเวลาที่มีอยู่อีก 4-5 ปี
8.4 บัณฑิตและผู้ที่กำลังเรียนอยู่ในปัจจุบัน สามารถสอบบรรจุและหางานทำได้ต่อไปตามปกติอย่างน้อย 5 ปี หลังจากนั้น ยังสามารถสอบบรรจุหรือหางานได้ต่อไปในภาครัฐและเอกชน แต่นับแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไปตำแหน่งครูภาครัฐจะมีน้อยลงอย่างมาก เพราะภาครัฐจะมีเพียงการรับสมัครสอบบรรจุกรณีที่ระบบปิดไม่เพียงพอหรือต้องการเพิ่มภายหลัง
8.5 ผู้เข้าเรียนในระบบปิดจะมีความมั่นใจในการประกอบวิชาชีพ อันจะเป็นการจูงใจให้คนดี คนเก่งเข้ามาสมัครเรียนครู และประกอบวิชาชีพครู มีขวัญและกำลังใจ รักษาระดับคะแนนให้สูง สร้างอุดมการณ์ มุ่งมั่น บ่มเพาะการเป็นครูที่ดี
8.6 จะเป็นการลดปัญหา การทุจริตหรือการโกงในการสอบแข่งขันหรือคัดเลือกบรรจุเป็นข้าราชการครู ที่ปัจจุบันพบว่า มีการทุจริตอย่างมากแทบทุกครั้งที่มีการสอบ
8.7 จะเป็นการเพิ่มคุณภาพของบัณฑิตครู ลดปัญหาครูล้นตลาด มีความสอดคล้องกันทั้งปริมาณและคุณภาพของการผลิตและความต้องการใช้
โดยสรุป การนำระบบปิดมาใช้ผลิตครูดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่ามีผลกระทบทางบวก ทั้งนี้ จะต้องป้องกันและแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นที่ได้เสนอไว้นี้ อย่างไรก็ตาม ระบบจะดีอย่างไร หากไร้การสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ขาดข้อมูลและขาดการประสานงานที่ดีของกระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานผู้ใช้ครูทั้งในและนอกกระทรวง สภาวิชาชีพ และสถาบันฝ่ายผลิตแล้วคงจะสำเร็จได้ยาก
ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 มี.ค. 2558