เขตพื้นที่ฯ 114 เขตทยอยประกาศผลสอบครูผู้ช่วย "กมล" เผยยังผ่านไม่ถึงครึ่ง แต่ต้องรอผลทางการ 6 มี.ค.นี้ "กมล" รับคุณภาพบุคลากรต่ำ เตรียมยกเครื่องระบบพัฒนา
นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดสอบคัดเลือกบุคคล เพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ว16, ว 17 ประจำปี 2558 โดยสอบข้อเขียนภาคก ความรอบรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครู และภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ และภาค ค สอบสัมภาษณ์ วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา เปิดสอบทั้งหมด 225 เขตพื้นที่การศึกษาและ 1 สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) รวม 226 เขต มีตำแหน่งว่าง 5,430 อัตรา แบ่งเป็น กลุ่มเขตพื้นที่ฯ ปกติ จำนวน 5,124 อัตรา และเขตพื้นที่ฯ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 306 อัตรา ใน 66 กลุ่มวิชา ผู้มีสิทธิ์สอบทั้งหมดจำนวน 25,535 ราย นั้น โดยขณะนี้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทยอยประกาศรายชื่อผู้ผ่านการสอบคัดเลือกแล้ว จำนวน 114 เขตพื้นที่ฯ คิดเป็น 50.44% ของเขตพื้นที่ฯ ทั้งหมดที่เปิดสอบ โดยมีผู้สอบผ่าน จำนวน 2,331 ราย คิดเป็น 38.25% จากจำนวนผู้มีสิทธิ์สอบในเขต 114 เขตพื้นที่ จำนวน 6,093 ราย ทั้งนี้ จะรู้ผลผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นทางการในวันที่ 6 มีนาคม ตามกำหนดที่ได้ประกาศไว้
อย่างไรก็ตามจากข้อมูล 114 เขตพื้นที่ฯ พบว่า กลุ่มวิชาเอกที่สอบได้มากที่สุด คือ กลุ่มวิชาคอมพิวเตอร์ จำนวน 488 ราย คิดเป็น 12.69% จากจำนวนผู้สิทธิ์สอบทั้งหมด 3,844 ราย และกลุ่มวิชาเอกที่สอบได้น้อยที่สุด คือ กลุ่มวิชาธุรการ/บริหารการศึกษา สอบได้ 1 ราย จากผู้มีสิทธิ์สอบจำนวน 54 คน คิดเป็น 3.7% ทั้งนี้ ตัวเลขผู้สอบผ่านดังกล่าวถือว่าน้อย และไม่เต็มตามอัตราว่างที่เปิดรับ แต่ผู้ที่สอบไม่ผ่านในรอบนี้สามารถ สมัครสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยทั่วไป ซึ่งจะสอบในเดือนเมษายนได้อีกครั้ง
“กรณีที่มีผู้สอบผ่านได้น้อยและไม่ครบตามอัตราที่เปิดรับ เรื่องนี้ชี้ให้เห็นถึงคุณภาพบุคลากรที่ขาดการฝึกอบรมพัฒนา แม้ข้อสอบจะออกโดยเขตพื้นที่ฯ ครูก็ยังไม่สามารถทำข้อสอบได้ อาจเพราะที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานเปิดรับลูกจ้างอย่างหลากลายโดยไม่มีระบบการประเมินจึงทำให้คุณภาพไม่เป็นไปตามที่ต้องการได้ ดังนั้นในเร็วๆนี้ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการศธ. เตรียมตอบโจทย์ระบบพัฒนาบุคลากรในส่วนนี้ด้วยการยกเครื่องการพัฒนาบุคลากร โดยจะจัดให้มีการอบรมในรูปแบบออนไลน์ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้บุคลากรได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายกมล กล่าว
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ส่วนตัวเข้าใจดีว่าการสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ทุกคนต้องจับตาเป็นอย่างมาก เพราะเกิดปัญหาทุจริตการสอบเมื่อสองปีที่แล้ว จนเป็นคดีความฟ้องร้องทั่วประเทศ ดังนั้นการสอบครั้งนี้จึงค่อนข้างเข้มงวดเรื่องมาตรการป้องกันการทุจริต และจะนำไปใช้ในการสอบครูผู้ช่วย กรณีทั่วไป โดยตนจะทำหนังสือถึง ปลัดศธ.ขอให้ส่งผู้ตรวจราชการศธ. ร่วมเป็นคณะกรรมการตรวจสนามสอบด้วย รวมถึงจะเพิ่มมาตรการป้องกันโดยอาจจะกำหนดการแต่งกายของผู้เข้าสอบให้มีลักษณะที่ปลอดภัยจากการทุจริต ไม่สามารถแอบพกกระดาษคำตอบ หรืออุปกรณ์การทุจริตเข้าห้องสอบได้
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 มีนาคม 2558