ศธ.มีแนวคิดแยกผลิตครู 3 ระดับ พร้อมแยกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ครูปฐมวัย ครูประถม และครูมัธยม - ฟื้น"คุรุทายาท"รับรุ่นแรกปีนี้ โดยยึดหลักการเดิมทุนเรียนฟรี/ประกันอัตราบรรจุเป็นขรก.ครู
พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก ว่าที่ประชุมมีมติฟื้นโครงการคุรุทายาท หลังจากยุติโครงการไปเมื่อปี 2539 เนื่องจากไม่มีอัตราบรรจุคุรุทายาท ที่จบหลักสูตรให้เพียงพอ อย่างไรก็ตามโครงการคุรุทายาท เป็นการให้ทุนเรียนฟรีแก่เด็กเก่ง เรียนดี มีความประพฤติเรียบร้อย และมีความตั้งใจจะเป็นครู เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องกลับไปทำงานพัฒนาภูมิลำเนาของตัวเอง ซึ่ง ศธ.ต้องการส่งเสริมให้ครูเก่ง ดี มีความตั้งใจมาเป็นครู จึงเห็นควรให้ฟื้นโครงการนี้ขึ้นมา โดยยึดหลักการเดิม คือให้ทุนเรียนฟรีและรับประกันการมีงานทำโดยบรรจุเป็นข้าราชการครู ซึ่งรายละเอียดได้มอบให้สภาการศึกษา (สกศ.) เป็นเจ้าภาพไปศึกษาและเขียนรายละเอียดเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)
โดยให้ สกศ.ไปหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เรื่องการผลิตบัณฑิตครู และหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) เกี่ยวกับอัตราว่างบรรจุบัณฑิตทุนเหล่านี้
"ศธ.มีความตั้งใจจะให้เริ่มรับนักเรียนทุนรุ่นแรก ในปีการศึกษา 2558 และต้องการให้ทำแบบต่อเนื่อง ซึ่งการที่ ศธ.ฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาก็เพื่อสนองพระราชดำรัส ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ทรงดำเนินการในลักษณะเดียวกันอยู่ และได้พระราชทานทุนให้นักเรียนในโรงเรียนที่ทรงดูแล ได้เรียนต่อแล้วจบมาเป็นครูในท้องถิ่นตนเอง" รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ด้านนายพินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า โครงการคุรุทายาท เบื้องต้นจะทำเป็นโครงการระยะ 5 ปี และคาดว่าจะรับนักเรียนทุนรุ่นแรก ได้ในปีการศึกษา 2558 ทันที เพราะมีแนวทางดำเนินการจากโครงการเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องมาปรับรายละเอียดบางส่วน อาทิ การรับเด็กที่อาจจะแบ่งเป็น 2 แนวทาง คือ รับเด็กที่เรียนในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ที่เรียนดีให้รับทุนเพื่อเป็นครู และรับนักเรียนชั้น ม.6 ที่เรียนดีให้ทุนมาเรียนครู จบแล้วมีอัตรารองรับ โดยเด็กที่รับทุนเหล่านี้เมื่อเรียนจบแล้วจะต้องกลับไปเป็นครูในภูมิลำเนาของตนเอง ส่วนรุ่นแรกจะเปิดรับเท่าไรนั้นต้องรอดูอัตราว่างจาก สพฐ.และ สอศ.ด้วย
"อย่างไรก็ดี ศธ.มีแนวคิดจะแยกหลักสูตรการผลิตครู ออกเป็น 3 ระดับคือ หลักสูตรครูปฐมวัย ประถม และมัธยม รวมถึงจะแยกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งต่อไปอาจจะต้องมีทั้งใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูปฐมวัย ครูประถม ครูมัธยม และครูอาชีวะ โดยที่ผ่านมา สกศ.ได้หารือกับคณะกรรมการคุรุสภาไปบ้างแล้ว และเบื้องต้นก็ตอบรับแนวคิดดังกล่าว" นายพินิติ กล่าว
ที่มา สยามรัฐ วันที่ 2 มีนาคม 2558