เผยรัฐบาลอยากลดขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างเหลือ 30 วัน วงในคลังชี้ต้องนำ "อี-บิดดิ้ง" มาใช้ ระบุปัจจุบันลดเหลือ 42 วันเต็มที่แล้ว ยันล่าช้าที่คณะกรรมการทีโออาร์
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การเบิกจ่ายงบฯ ลงทุนที่ยังล่าช้านั้น รัฐบาลต้องการให้ลดขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างลงอีกให้เหลือแค่ 30 วัน จากปัจจุบันที่มีการลดขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง เหลือแค่ 42 วัน จากเดิมต้องใช้เวลานานถึง 85 วันไปแล้ว อย่างไรก็ดี การลดเหลือ 30 วันสามารถทำได้ แต่ต้องนำระบบ e-Bidding มาใช้กับทุกหน่วยงาน
"ปัจจุบันทางกรมบัญชีกลางยังอยู่ระหว่างนำร่องใช้ e-Bidding อยู่ ยังไม่ได้นำมาใช้กับทุกหน่วยงาน ถ้านำมาใช้เต็มที่จะลดเวลาเหลือ 30 วันได้ เพราะ e-Bidding จะสามารถทำได้โดยไม่ต้องผ่านตลาดกลาง" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า หากยังไม่ได้นำ e-Bidding มาใช้เต็มรูปแบบ คงไม่สามารถลดระยะเวลาลงได้อีก เนื่องจากแต่ละขั้นตอนถือว่าตึงแล้ว และความล่าช้า ก็ไม่ได้อยู่ในขั้นตอนเหล่านี้แล้ว แต่จะไปช้าที่ขั้นคณะกรรมการยกร่างทีโออาร์ ที่ค่อนข้างล่าช้าในการส่งร่างทีโออาร์ รวมถึงเมื่อมีการประกาศร่างทีโออาร์แล้ว และต้องมีขั้นตอนที่จะต้องสรุปว่าจะแก้ไขหรือไม่ ซึ่งจุดนี้ก็เป็นอีกจุดที่ล่าช้า
ทั้งนี้ วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง 12 วิธี ประกอบด้วย 1) ตกลงราคา 2) สอบราคา 3) ประกวดราคา 4) ประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อีอ๊อกชั่น) 5) วิธีพิเศษ 6) วิธีกรณีพิเศษ 7) จ้างที่ปรึกษาโดยวิธีตกลง 8) จ้างที่ปรึกษาโดยวิธีคัดเลือก 9) จ้างออกแบบโดยวิธีตกลง 10) จ้างออกแบบโดยวิธีคัดเลือก 11) จ้างออกแบบโดยวิธีคัดเลือกแบบจำกัดข้อกำหนด และ 12) จ้างออกแบบโดยวิธีพิเศษ
"วิธีการที่ใช้เวลามาที่สุด ก็คือ อีอ๊อกชั่น ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีการลดขั้นตอนเหลือ 42 วันไปแล้ว จากเดิม 85 วัน คือ กรณีมีผู้ยื่นประมูล 1 ราย เดิมต้องยกเลิก แล้วประมูลใหม่ ก็ให้ตกลงกับผู้ประมูลรายเดียวนั้นได้เลย หรือประมูลครั้งแรกไม่ผ่าน ปกติต้องขอให้คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) พิจารณา แต่ที่ผ่านมาก็ผ่อนปรนให้หน่วยงานพิจารณาใช้วิธีอื่นได้" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ขั้นตอนการเบิกจ่ายหลังจากประมูลเรียบร้อยแล้ว จะใช้เวลาเท่าไร ต้องขึ้นกับส่วนราชการ คณะกรรมการตรวจรับ ที่จะตกลงกับผู้ที่ชนะประมูล ตลอดจนการตกลงรายละเอียดในสัญญา ว่าจะกำหนดงวดงานกันอย่างไร ซึ่งการเบิกจ่ายต้องขึ้นกับงวดงาน โดยยิ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ก็อาจต้องใช้เวลาในการเบิกจ่ายค่อนข้างมาก และกว่าจะเบิกจ่ายงวดแรกก็อาจใช้เวลาถึง 60 วัน
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับหนังสือเวียนที่ออกมาก่อนหน้านี้ จะมีทั้งกรณีการเบิกจ่ายงบฯ ไทยเข้มแข็ง และกรณีเบิกจ่ายงบฯ รายจ่ายประจำปี แต่รายละเอียดจะเหมือนกันคือ ลดเวลาจะกว่า 80 วัน เหลือกว่า 40 วัน
"ปกติตามระเบียบอ๊อกชั่น พอเอกชนร้องเรียน แล้วอุทธรณ์ได้ภายใน 3 วัน กระบวนการจะหยุดชะงักไปเลย จนกกว่าจะพิจารณาอุทธรณ์เสร็จอีกภายใน 30 วัน แต่หนังสือเวียนที่ออกไป จะบอกว่าสามารถดำเนินการได้ต่อไปเลย โดยไม่ต้องหยุดรอ ซึ่งมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2557" แหล่งข่าวกล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ 02 มี.ค. 2558