คอลัมน์ มติชนมติครู: สิ่งที่รัฐบาลยุค'คสช.'ต้องแก้ไขโดยด่วน
วิสุทธิ์ เวียงสมุทร
อาจารย์คณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ
teachervoice@matichon.co.th
เป็นที่ยอมรับว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลต้องทุ่มเทงบประมาณเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติเป็นจำนวนมาก แต่คุณภาพการศึกษายังย่ำแย่อยู่เหมือนเดิม เพราะจากการประเมินคุณภาพการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าผลผลิตทางการศึกษายังด้อยคุณภาพทางด้านการคิด ไม่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับต่ำ และมีนักเรียนเป็นจำนวนมากอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ดังที่ปรากฏในข่าวที่ว่า "ป.3 อ่านเขียนไม่ออก 3.5 หมื่นคน สพฐ.สั่งแก้เต็มรูปแบบปี 2558" (คม ชัด ลึก : วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2557)
มีผลงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ชี้ให้เห็นว่า คุณภาพของนักเรียนขึ้นอยู่กับคุณภาพการสอนของครู หรืออาจกล่าวได้ว่าบุคคลสำคัญที่สุดที่จะนำนโยบายของรัฐบาลสู่การปฏิบัติจริงในชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นก็คือครูนั่นเอง ดังนั้น รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาจึงพยายามที่จะผลักดันให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงและมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการสอนของครูให้ดีขึ้น โดยมีนโยบายแก้ปัญหาหนี้สินครู มีนโยบายหาคนเก่งคนดีมาเรียนครู ขยายเวลาเรียนครูจาก 4 ปี เป็น 5 ปี นำข้อสอบมาทดสอบครูทั่วประเทศแล้วแบ่งครูออกเป็นกลุ่มๆ หลังจากนั้นก็ทุ่มเทงบประมาณ อบรมครูกลุ่มต่างๆ โดยอาจารย์มหาวิทยาลัย นอกจากนั้นยังจัดหลักสูตรอบรมเข้มให้แก่ผู้บริหารหลายสิบวัน จัดงบประมาณมาส่งเสริมการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้และคิดไม่เป็น แต่แล้วกระบวนการพัฒนาครูที่ผ่านมาก็ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง วิชาชีพครูแทนที่จะเป็นวิชาชีพชั้นสูงตามที่ภาครัฐคาดหวังกลับกลายเป็นเพียงวิชาชีพที่มีเงินเดือนสูงขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้จ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนครู ค่าตำแหน่งครูด้วยงบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่คุณภาพการศึกษากลับตกต่ำ
คำถามที่ผู้เกี่ยวข้องกับวงการศึกษาต้องคิดหาคำตอบคือ ทำไมคุณภาพการศึกษาจึงไม่ดีขึ้น? ปัญหาและสาเหตุอยู่ที่ใด และจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร..?
ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า สาเหตุสำคัญที่เกิดความล้มเหลวในการพัฒนาครู เป็นเพราะรัฐบาลมีนโยบายที่ผลักไสหัวใจครูไม่ให้อยู่ที่ผู้เรียน ส่งผลให้ครูมองเห็นผู้เรียนไม่มีความสำคัญนั่นเอง นโยบายที่ทำให้ครูเป็นเช่นนั้นที่สำคัญ ได้แก่
1.ประเทศไทยมีนโยบายยึดคะแนนจากผลการสอบระดับชาติ อาทิ แบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) เป็นต้น เป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพผู้เรียน ทำให้ครูจำเป็นต้องยึดเนื้อหาและการติวข้อสอบเป็นสำคัญ ส่งผลให้ครูมุ่งสอนแบบเร่งรัดยัดเยียดให้ผู้เรียนจดจำเนื้อหาตามตำรา เพื่อนำไปสอบ
2.ประเทศไทยมีนโยบายการประเมินผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะของครูโดยเน้นการประเมินเอกสารงานวิจัยมากกว่าการประเมินผลคุณภาพผู้เรียนในชั้นเรียน เป็นเหตุให้ครูส่วนใหญ่มุ่งสร้างเอกสารและงานวิจัยมากกว่าการมุ่งพัฒนาผู้เรียน
เมื่อครูทำการสอนโดยไม่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ และความก้าวหน้าของครูก็ไม่ขึ้นอยู่กับคุณภาพของผู้เรียนดังที่กล่าว ครูจึงเมินเฉยต่อความไม่รู้ของผู้เรียนและปล่อยให้เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และคิดไม่เป็น ปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้ เมื่อสภาวการณ์เป็นเช่นนี้ รัฐบาลจะทุ่มเทงบประมาณเท่าไหร่ ก็จะเกิดการสูญเปล่าอยู่เหมือนเดิม
ตรรกะง่ายๆ ในการแก้ปัญหาคือ เมื่อกรรมการประเมินต้องการตรวจสอบเอกสาร ครูก็จะทิ้งเด็กไปมุ่งสร้างแฟ้มเอกสาร โดยเฉพาะระยะเวลาก่อนการประเมินวิทยฐานะหรือก่อนประเมินภายนอกประมาณ 2-3 เดือน นักเรียนแทบไม่ได้เรียนเลย แต่ถ้ากรรมการประเมินมีนโยบายจะมาประเมินผู้เรียน ครูก็จะมามุ่งสร้างและพัฒนาผู้เรียน ซึ่งจะส่งผลทำให้ผู้เรียนมีความสำคัญขึ้นมาทันที ดังนั้นแนวทางแก้ไขที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการโดยด่วนคือ ภาครัฐควรเชิญผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตและพัฒนาครู รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนมา ระดมสมองกำหนดคุณลักษณะของครูและคุณลักษณะผู้เรียนตามแนวทางที่ชาติต้องการขึ้น และประชาสัมพันธ์ให้ครูและผู้เกี่ยวข้องรับทราบและถือเป็นแนวปฏิบัติ
ขณะเดียวกันต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการประเมินทุกประเภทในระบบการศึกษา เช่น การประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะของครู การประเมินครูดีเด่น ครูสอนดี การประเมินภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) การประเมินโรงเรียนพระราชทาน ฯลฯ ต้องลดการให้ความสำคัญที่เอกสารงานวิจัยหรือแผนการสอนที่เป็นขยะทางการศึกษา มาเป็นการประเมินตามสภาพจริงอิงพัฒนาการของผู้เรียน เลิกหลงใหลให้ความสำคัญกับคะแนนที่ได้มาจากการลอกมากาถูก หันมาให้ความสำคัญกับการบันทึกการพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคลโดยเน้นพิจารณาว่าผู้เรียนได้รับการพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพในทิศทางที่เขาถนัดและสนใจหรือไม่ อย่างไร วิธีการประเมินก็อาจกระทำโดยการตรวจสอบบันทึกพัฒนาการผู้เรียนและผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติงานของนักเรียน ประกอบกับการสัมภาษณ์นักเรียนหรือให้ผู้เรียนปฏิบัติงานให้กรรมการดู ตลอดจนสอบถามเพื่อนครู ผู้ปกครอง และชุมชนเพิ่มเติม เมื่อครูคนใดสามารถพัฒนาตนเองได้ตามเกณฑ์ที่ภาครัฐกำหนด จึงให้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ครูคนอื่นๆ
เมื่อครูคนใดไม่สนใจในการดำเนินงานตามแนวทางที่ชาติต้องการก็ควรมีมาตรการลงโทษ เช่น งดจ่ายค่าตำแหน่ง หากรัฐบาลทำได้เช่นนี้ ครูจะหันมาให้ความสำคัญกับผู้เรียนและคิดค้นวิธีการแก้ปัญหาผู้เรียนอย่างจริงจังและจะไม่เมินเฉยต่อความไม่รู้ของผู้เรียนอีกต่อไป อันจะส่งผลให้คุณภาพการศึกษาสูงขึ้นได้ในที่สุด
ที่มา มติชน Issued date 1 March 2015