นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ขณะนี้ การที่ประชาชนได้รับคืนภาษีล่าช้า จากการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะอยู่ในกลุ่มที่ยื่นแบบเอกสารกระดาษ ที่ใช้เวลาประมาณพิจารณาไม่เกิน 90 วัน โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ที่มีประชาชนยื่นเสียภาษีเพิ่มขึ้น จะได้รับการพิจารณาคืนภาษีอย่างช้า ช่วงเดือนมิ.ย.นี้ หรือบางกรณีที่ต้องขอตรวจเอกสารเพิ่มเติม เพื่อป้องกันการแสดงรายการลดหย่อนที่ไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้ คาดว่าการยื่นแบบเสียภาษี เมื่อถึงเดือนมี.ค.นี้ คาดว่าจะสูงถึง 8 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว เพราะเป็นเดือนสุดท้ายในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ส่วนการคืนภาษีของปีนี้คาดว่าจะขอคืนภาษีประมาณ 2 ล้านราย
ขณะที่ การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 57 ที่เปิดให้เริ่มยื่นแบบได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมา มีผู้ยื่นแบบแล้วกว่า 4 ล้านราย จากจำนวนผู้มีรายได้ 12 ล้านราย โดยมีผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านทางอินเทอร์เน็ต 77% และยื่นแบบเป็นเอกสารกระดาษอีก 23%
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ยื่นแบบผ่านทางอินเทอร์เน็ต กรมสรรพากรพยายามคืนภาษีให้ได้ภายใน 3 วัน ซึ่งได้คืนภาษีไปให้แล้ว 400,000 ราย แต่ยอมรับว่า ช่วงปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา การคืนภาษีล่าช้ากว่า 3 วัน เนื่องจากเกิดปัญหาจากธนาคารกรุงไทยเปลี่ยนรูปแบบเช็คทำให้ล่าช้าไป 10 วัน ส่งผลกระทบต่อผู้เสียภาษี 100,000 ราย แต่ได้ดำเนินการแก้ปัญหาและคืนภาษีให้หมดแล้ว
สำหรับการยื่นแบบบุคคลธรรมดา ปีภาษี 58 กรมสรรพากรจะให้ความสำคัญต่อการสุ่มตรวจผู้ที่ยื่นรายการลดหย่อนภาษีเป็นเท็จ เช่น การใช้ใบอนุโมทนาบัตร หรือใบแสดงรายการบริจาคปลอมมาลดหย่อนภาษี โดยไม่ได้บริจาคเงินจริง การใช้สิทธิลูกกตัญญูเลี้ยงดูพ่อแม่ซ้ำซ้อน การนำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวในประเทศมาใช้หักลดหย่อนภาษีไม่ถูกต้อง เช่น บริษัทผู้ให้บริการสำรองห้องพักทางออนไลน์ ที่ไม่สามารถนำใบจองมาหักลดหย่อนภาษีได้ และการใช้เอกสารเบี้ยประกันชีวิตปลอมมาลดหย่อนภาษี ผู้เสียภาษีที่ใช้สิทธิไม่ถูกต้องจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดไปอีก 3 ปี
ที่มา เดลินิวส์ วันจันทร์ 2 มีนาคม 2558