กลิ่น สระทองเนียม
การปฏิรูปประเทศตามโรดแม็พที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำหนดไว้นั้นดูเหมือนว่าเวลาจะกระชับเข้ามาทุกขณะ คณะที่รับผิดชอบในแต่ละภารกิจที่เรียกกันว่า "แม่น้ำ 5 สาย" ซึ่งประกอบด้วย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็คงต้องเร่งดำเนินการกันอย่างเต็มที่ ภารกิจส่วนนี้ต้องบอกว่าเป็นงานหินของแต่ละฝ่ายอย่างยิ่ง เพราะ การปฏิรูปที่นอกจากจะต้องแก้โจทย์จากสารพันปัญหาภายในประเทศเองแล้ว ยังต้องพัฒนาให้สามารถอยู่ในสังคมโลกไร้พรมแดนที่มีการแข่งขันและเป็นหุ้นส่วนการดำเนินการทุกด้านอย่างมีศักดิ์ศรีให้ได้ อีกด้วย
ซึ่งการที่จะปฏิรูปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุกด้านให้ดีขึ้น อย่างทันตาเห็นตามที่ทุกฝ่ายคาดหวังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะงานด้านการพัฒนาบุคลากรของชาติให้มีคุณภาพ เป็น "คนดี คนเก่ง มีความสุข" ด้วยเป็นงานหนัก งานใหญ่ งานที่เห็นผลช้าและต้อง อาศัยสารพัดปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ด้วยคุณภาพบุคลากรของชาติถือเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาด้านอื่น ๆ ให้เกิดผลสำเร็จตามไปด้วย ดังนั้นแม้การศึกษาแม้เป็นงานยากแต่ด้วยความจำเป็นดังกล่าวจึงเป็นด้านแรกที่ต้องเร่งดำเนินการให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้ ซึ่งปัจจุบันคุณภาพการศึกษาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในชาติเป็นอย่างไรคงไม่ต้องนำมาสาธยายกันอีก เพราะทั้งในและต่างประเทศต่างรู้กันหมดแล้ว ซึ่งมูลเหตุที่มาของปัญหานั้นเชื่อว่าตอนนี้แม่น้ำทั้ง 5 สายคงรับทราบจนเกินพอแล้วเป็นแน่ จึงเหลืออยู่ว่าจะหาทางแก้ไขและพัฒนาไปทางไหนเท่านั้นถึงจะทำให้การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาคนในชาติให้เป็น "คนดี คนเก่ง มีความสุข" ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
เรื่องการปฏิรูปการศึกษาเพื่อปฏิรูปประเทศ ที่ว่านี้ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สนช. ถึงความคืบหน้าการดำเนินการภารกิจสำคัญยิ่งนี้ว่าไปถึงไหนแล้ว ทั้งนี้เพื่อจะได้นำมาขยายผลให้ทุกฝ่ายได้รับทราบ ซึ่งเรื่องนี้ คุณตวง ก็บอกว่าเป็นสิ่งที่คณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สนช. ต้องการให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินงานเช่นกัน คุณตวง บอกกว่าก่อนอื่นคงต้องให้ทุกฝ่ายได้เห็นว่าการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ คือ ความหวังของคนไทยทุกคนที่คาดหวังว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสันติสุข เข้มแข็ง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และยกระดับความสามารถของพลเมืองได้สามารถแข่งขันในประชาคมอาเซียนได้ ซึ่งการปฏิรูป การศึกษาถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ ซึ่งทุกฝ่ายก็คงเห็นพ้องกันว่า "หากปฏิรูปการศึกษาไม่ประสบความสำเร็จ ก็ไม่ต้องพูดถึงการปฏิรูปในด้านอื่น ๆ"
ความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาจึงถูกเอ่ยย้ำตลอดเวลาจาก นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งในการประชุมร่วมของแม่น้ำ 5 สายหรือในการประชุมเฉพาะแม่น้ำบางสายก็ตาม คณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สนช. ถือเป็นแม่น้ำสายแรกสุดนับตั้งแต่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ได้จับมือกับแม่น้ำอีก 4 สาย เดินทางไปยังภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะในการปฏิรูปการศึกษา จากเวทีภาคเหนือ เชียงใหม่ สู่ภาคอีสาน ขอนแก่น ภาคใต้ที่สงขลา และสุดท้ายที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่ละเวทีได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมมากมาย หลากหลายและมีพลังยิ่งในประเด็นต่าง ๆ ทั้งปัญหาและข้อเสนอแนะ ที่ได้รับจากเวทีทั้ง 4 ภูมิภาค ถูกนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เป็นข้อมูลที่จะนำมาสู่การปฏิรูปการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาของประเทศครั้งนี้ โดยแบ่งออก เป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 เป็นกรอบแนวคิดที่จะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ซึ่งในส่วนนี้ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว อาทิ สิทธิเสรีภาพทางการศึกษาและวิชาการ สิทธิความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางการศึกษา เป็นต้น
ส่วนที่ 2 เป็นข้อเสนอในการปฏิรูปการศึกษาทั้งในระยะ 1 ปีและระยะยาว โดยการแก้ไขกฎหมาย ประกอบด้วย ข้อเสนอในการปฏิรูปการเรียนรู้โดยปฏิรูปจากล่างขึ้นบน จากเด็กหรือผู้เรียนสู่ห้องเรียน จากห้องเรียนสู่สถานศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนทิศทางการปฏิรูปใหม่จากเดิมที่เคยปฏิรูปจากส่วนกลางไปถึงโรงเรียนและผู้เรียน ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ และไม่ถึงตัวผู้เรียนอย่างแท้จริง นอกจากนั้นต้องมีการปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เกิดผลอย่างมีพลังและเกิดทันที ได้แก่ การแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู และ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงกลไกที่มีปัญหาอยู่ให้พัฒนา ทันสมัยมากขึ้น และสามารถแก้ปัญหาได้ทันต่อเหตุการณ์
ส่วนที่ 3 เป็นข้อเสนอในการปฏิรูปการศึกษา ที่สามารถนำไปดำเนินการโดยไม่ต้องรอแก้ไขกฎหมาย ด้วยการใช้นโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้เลยภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี ซึ่งส่วนนี้ก็จะทำให้เห็นผลได้ทันที เช่น นโยบายการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก นโยบายการแก้ปัญหาอาหารเสริม นม และอาหารกลางวัน นโยบายการเรียนอาชีวศึกษาแบบผสม นโยบายการแก้ปัญหาการอ่านไม่ได้ เขียนไม่ได้ ให้อ่านได้ อ่านคล่อง เขียนได้ การปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับข้อตกลงของประชาคมอาเซียนในด้านภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ หรืออาเซียนศึกษา เป็นต้น
ซึ่งกระบวนการทำงานร่วมกันของแม่น้ำ 5 สาย นั้นได้ดำเนินการอย่างสอดคล้องประสานกัน เช่น เมื่อ สปช.และ สนช.เห็นว่าควรต้องแก้ไข พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลังและเกิดผล เป็นรูปธรรม จากล่างขึ้นบน รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีก็จะต้องนำ เสนอกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติและประกาศใช้บังคับตามนโยบายของรัฐบาล และ คสช. ต่อไป ดังนั้นแม่น้ำ 5 สายหลักที่ว่านี้จึงเป็นสายธารที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศด้วยการศึกษาและปฏิรูปการศึกษาให้บุคลากรของชาติเกิดคุณภาพซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาของประเทศให้เดินทางไปสู่สังคมสันติสุข เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในเวทีประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกต่อไปได้อย่างมั่นคงถาวรตลอดไป
จากการบอกเล่าของคุณตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สนช. กับการปฏิรูปการศึกษาเพื่อ พัฒนาบุคลากรของชาติแล้ว ก็คงพอทราบได้ว่าน่าจะไปในทิศทางใด จากประเด็นหลัก ๆ เมื่อถูกกำหนดเป็นกฎหมายและนำมาบรรจุเป็นนโยบายของรัฐบาลแล้ว การนำลงสู่ภาคปฏิบัติก็คงจะมีความชัดเจนตามมา เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อคนไทยและประเทศไทย เพราะหากปล่อยให้คุณภาพการศึกษา คุณภาพชีวิตคนไทย เป็นอยู่อย่างเช่นปัจจุบัน คงไม่ต้องบอกว่าจะมีปัญหาอะไรบ้างตามมา ช่วยกันอย่างจริงจังเสียทีเถอะครับกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชาติ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงวันนี้จะไปเกิดผลในอีก 10-15 ปี ก็ถือว่ายังไม่สายจน เกินไป เพราะสารพัดปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันก็น่าจะมากเกินพออยู่แล้ว หากยังปล่อยกันไปเรื่อย ๆ ความสุขของคนในชาติ ความเจริญก้าวหน้าของประเทศ คงไม่ต้องพูดถึงกันเพราะหากพูดก็จะกลายเป็นการดูถูกตัวเองไปเปล่า ๆ นั่นเองครับ.
ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 มี.ค. 2558 (กรอบบ่าย)