เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นายอานนท์ สุขภาคกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เขต 1 กรุงเทพฯ เปิดเผยกรณีที่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หารือร่วมกับคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และมีมติให้ลดวิชาทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) จาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เหลือ 5 กลุ่มสาระฯ ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา โดย สทศ.เป็น ผู้จัดสอบ ส่วนอีก 3 กลุ่มสาระฯ ได้แก่ ศิลปะ พลศึกษาและสุขศึกษา และการงานอาชีพและเทคโนโลยี ให้โรงเรียนเป็นผู้จัดสอบ โดยเริ่มทันทีในปีการศึกษา 2558 ซึ่งจะสอบช่วงต้นปี 2559 ว่า เห็นด้วยและสนับสนุน โดยเฉพาะการให้โรงเรียนจัดสอบ 3 กลุ่มสาระฯ เนื่องจากเป็นวิชาเชิงปฏิบัติ จึงควรวัดด้วยการปฏิบัติ ซึ่งโรงเรียนมีความพร้อมอยู่แล้ว ส่วนกรณีผู้ปกครองหวั่นว่าโรงเรียนอาจมีมาตรฐานในการให้คะแนนไม่เหมือนกันนั้น มองว่า 3 กลุ่มสาระฯ เป็นวิชาเชิงปฏิบัติ ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ให้คะแนนซึ่งอาจมองต่างจากผู้ปกครอง ดังนั้นเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าโรงเรียนปล่อยเกรดหรือไม่ แต่เชื่อว่าโรงเรียนมีมาตรฐานในการให้คะแนนอยู่แล้ว
ด้านนายธีรศักดิ์ คงเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนสุโขทัยวิทยาคม จ.สุโขทัย กล่าวว่า เห็นด้วยและสนับสนุนให้ลดการสอบวิชาโอเน็ตเหลือ 5 กลุ่มสาระฯ เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับเด็กในการสอบมากเกินไป และโรงเรียนก็พร้อมที่จะวัดผล 3 กลุ่มสาระฯ ซึ่งเดิมก็ทำกันอยู่แล้ว ส่วนที่ ผู้ปกครองกังวลมาตรฐานในการให้คะแนนของโรงเรียนว่าจะไม่เป็นธรรมนั้น ต้องชี้แจงว่าวิชาเหล่านั้น เดิมทีนักเรียนก็ได้คะแนนสูงอยู่แล้ว
นายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า การลดสอบโอเน็ตเหลือ 5 กลุ่มสาระฯ ในปีการศึกษา 2558 จะไม่กระทบกับนักเรียนที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปัจจุบัน เพราะสอบโอเน็ตไปแล้วเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ที่จะกระทบจริงๆ คือนักเรียนที่กำลังเรียนชั้น ม.5 เพราะต้องใช้โอเน็ต ที่จัดโดย สทศ. ซึ่งเป็นเรื่องที่ ทปอ.ต้องมาหารือปรับสัดส่วนคะแนนโอเน็ตให้เหมาะสม อาทิ อาจใช้แนวทางเพิ่มสัดส่วน 5 กลุ่มสาระฯ เป็นกลุ่มสาระฯละ 6% จากเดิมใช้กลุ่มสาระฯละ 5% ก็เท่ากับใช้โอเน็ต 30% ตามเดิมหรืออาจจะมีแนวทางอื่นซึ่งคงต้องหารือร่วมกัน ทั้งนี้ ทปอ.ยังยึดตามหลักการเดิมคือจะปรับเปลี่ยนอะไรจะต้องประกาศล่วงหน้า 3 ปี ซึ่งไม่มีกฎหมายกำกับ แต่ถือเป็นวัฒนธรรมเพื่อให้เด็กได้มีเวลาเตรียมตัว แต่หากเป็นการปรับเล็ก ก็ไม่จำเป็นต้องประกาศล่วงหน้า ซึ่งในส่วนของโอเน็ตน่าจะเป็นการปรับเล็กเท่านั้น
"ยืนยันว่าการจะปรับอะไร จะต้องคำนึงถึงความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และสามารถคัดเลือกเด็กเข้าเรียนได้ตรงตามความสามารถอย่างแท้จริง สิ่งที่ ทปอ.กังวลคือ หากใช้คะแนนที่โรงเรียนจัดสอบ อาจจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ อีกทั้ง ทปอ.ใช้คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) มาถ่วงกับคะแนนโอเน็ตอยู่แล้ว ซึ่งเหตุผลก็เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและให้เด็กตั้งใจเรียนในห้องเรียน ไม่ใช่ทิ้งห้องเรียนมากวดวิชาเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย" นายประสาทกล่าว
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 3 มี.ค. 2558 (กรอบบ่าย)