หากถูกถาม? โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร กว่าครึ่งจะมีคำตอบ “หนูอยากเป็นครูค่ะ” หรือ “ผมอยากเป็นครูครับ” แรงบันดาลใจในวัยเด็ก ทำให้เด็กๆ เหล่านี้ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยเพื่อเรียน “ครู” และได้เป็น “ครู” ตามที่ฝันไว้ แต่กว่าที่พวกเขาและเธอจะรู้ว่า “ครู” คืออาชีพที่ตัวเองต้องการทำงานจริงๆ หรือไม่นั้น ต้องรอทดสอบวิชาที่ตนได้เรียนมาถึงปีที่ 4 ที่จะได้เป็น “ครูฝึกสอน” ถ้าเกิดไม่ชอบขึ้นมาล่ะ...จะทำอย่างไร? แต่มีนักศึกษาอีกกลุ่มหนึ่ง สามารถสร้างพื้นที่เล็กๆ เพื่อให้เพื่อนนักศึกษา ภายใต้โครงการครูเพื่อศิษย์ โดยกลุ่มครูอาสา ม.ราชภัฏสงขลา เป็นเวทีให้พวกเธอ เขา ได้เรียนรู้การเป็นครูจริงๆ ก่อนใคร นอกจากเพื่อตามหาคำตอบมาเป็น “ครูเพราะชอบหรือแค่ใช่” เท่านั้น แต่ยังได้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคมอีกด้วย
โครงการครูเพื่อศิษย์ มีแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาของนักศึกษาวิชาชีพครูในปัจจุบันคือ เมื่อจบไปแล้วบางคนไม่สามารถนำ “ความรู้” ที่ได้ไปปฏิบัติจริง เนื่องจากหลักสูตรการศึกษาที่ผ่านมาเน้นทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ ทำให้นักศึกษาขาด “กระบวนการเรียนรู้” ไม่เกิดความภาคภูมิใจในวิชาชีพครูอย่างเป็นรูปธรรม และขาดจิตวิญญาณความเป็นครู กลุ่มจึงคิดที่จะรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาศักยภาพตนเองและเครือข่ายเพื่อนนักศึกษาครู ด้วยการจัดตั้งกลุ่ม “ครูเพื่อศิษย์” ที่มีขั้นตอนการจัดกิจกรรมคือ จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะความเป็นครูเพื่อศิษย์ โดยการจัดอบรมเสวนา จัดกิจกรรมเรียนรู้จากพื้นที่จริง สร้างเพจให้ความรู้เรื่องครูเพื่อศิษย์ เพื่อฝึกทักษะการจัดการเรียนการสอนจากการลงมือปฏิบัติจริง ฝึกการทำงานร่วมกับผู้อื่น และมีจิตวิญญาณความเป็นครูเพิ่มขึ้น
“ครูที่ดีก็มีเยอะ ครูที่ไม่ดีก็มีเยอะ เราในฐานะนักศึกษาครุศาสตร์เห็นว่าครูที่ไปสอนนำความรู้ที่ได้ไปใช้ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ได้ถ่ายทอดคุณธรรม ไม่รักในวิชาชีพครู พวกเราเป็นแกนนำนักศึกษาอยู่ จึงรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างผู้นำนักศึกษาวิชาชีพครูที่จะไปเป็นครูในวันข้างหน้า เพราะครูสอนตามหลักสูตรเท่านั้น ความเป็นความตายของชาติอยู่ในมือครู จึงอยากเสริมสร้างกลุ่มให้เข้มแข็ง” นายกรวิชญ์ มหาวงค์ หนึ่งในแกนนำกล่าว
นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 37 คนไปฝึกสอนที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านบาโรย อ.สะเดา จ.สงขลา โดยมีกิจกรรมจัดการเรียนการสอนทั้ง 7 กลุ่มสาระให้กับนักเรียนระดับอนุบาล 1-ประถมปีที่ 6 กิจกรรมมีแค่สองวันผ่านพ้นไปแล้ว แต่ได้สร้างความประทับใจและสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นภายในจิตใจนักศึกษา ฟังเสียงสะท้อนการเข้าร่วมโครงการของนักศึกษาว่า
นี่คือขั้นบันไดสู่ความเป็นครู
น.ส.นิภาวรรณ ทองจินดา (มิว) คณะครุศาสตร์ “การเป็นนักศึกษาชั้นปีที่หนึ่ง ไม่มีประสบการณ์การสอนมาก่อนเลย ไปถึงก็ไปสอนเลย ขอสะท้อนสิ่งที่ได้จากการไปค่ายคือ การที่เราได้ไปลงมือทำ ได้ปฏิบัติจริง ได้นำตัวตนของเราออกไปใช้กับนักเรียน ถ้าเราเรียนในห้องเรียนเราไม่ได้ทำขนาดนี้ หรือไม่ก็ได้ทำตอนที่เราอยู่ในปีสุดท้าย การเข้าร่วมโครงการนี้จึงเปรียบเป็นบันไดขั้นที่หนึ่งสู่การเป็นครูที่ดี เป็นเทียนเล่มหนึ่งที่จะเป็นแสงส่องสว่างต่อไปได้”
ชอบหรือใช่คำตอบให้กับตนเอง
น.ส.เสาวลักษณ์ มาบัว (ฝน) อายุ 20 ปี 1 เอกการศึกษาปฐมวัย “ส่วนใหญ่นักศึกษาที่เข้ามาเรียน จะเข้ามาด้วยความชอบ แต่อาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ไม่รู้ การไปค่ายทำให้รู้ว่าก่อนหน้าที่เราคิดว่าชอบเด็กปฐมวัย แต่พอไปสอนจริงๆ ก็ถามตัวเองว่าเราพร้อมไหมที่จะต้องไปล้างอึให้เด็ก ไม่รู้ภูมิหลังเด็กมาก่อน พอไปค่ายเห็นภาพครูล้างอึให้เด็ก หาเหาให้เด็ก ซึ่งเยอะมาก ถ้าคุณไม่มีน้ำใจตรงนี้ หรือรักเขาจริงๆ คุณทำได้ไหม ทำให้เห็นว่าการเป็นครูไม่ใช่แค่เราชอบก็จะเป็นได้ ทำให้น้องๆ หลายๆ คนที่กลับมาสะท้อนตัวเองว่าตัวเองใช่หรือเปล่า บางคนกลับมาแล้วบอกเหนื่อย บางคนท้อแต่จะสู้ต่อ”
มากกว่าความเป็นครู
น.ส.รุ่งฤดี หนูม่วง (รุ่ง) อายุ 21 ปี 2 เอกคณิตศาสตร์ “ตอนแรกมีการเตรียมสื่อการสอน ก็เตรียมในฐานะนักศึกษาครูไม่ได้รู้สึกอะไรมากมาย คิดว่าเรามาหาประสบการณ์ เริ่มขั้นตอนเข้าห้องเรียน ความรู้สึกคือเด็กทุกคนอยู่ในความรับผิดชอบของเรา ช่วงแรกของการสอนครูประจำชั้นจะมาสังเกตการณ์อยู่แล้ว มีเหตุการณ์ที่ดิฉันเจอคือมีเด็กนักเรียนคนหนึ่งอุจจาระใส่กางเกง ตอนแรกครูก็จะบอกไว้ก่อนเลยว่ามีเด็กคนหนึ่งที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง ชอบอุจจาระใส่กางเกง จะนั่งหน้าสุด นั่งอยู่คนเดียวดูโดดเดี่ยวมาก เด็กเกิดอุจจาระใส่กางเกง วินาทีนั้นดิฉันรู้สึกว่าเด็กแค่อุจจาระเอง ความรู้สึกตอนนั้นเราไม่ใช่นักศึกษา เราคือครูที่ต้องทำหน้าที่ครูทุกอย่าง ครูก็บอกไว้ก่อนถ้าเด็กอุจจาระให้ไปเรียกได้แต่ดิฉันก็จัดการเอง พาเด็กไปห้องน้ำล้างน้ำ ล้างตัว และพากลับมานั่งที่เดิมเพื่อไม่ให้เกิดปมด้อย และก็สอนว่าถ้าจะอุจจาระให้บอกคุณครู ไม่ต้องกลัว และไปบอกเพื่อนๆ ที่ล้อเขาว่าการล้อเลียนเพื่อนมันเป็นสิ่งไม่ดี เหตุการณ์นี้ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดิฉันได้แม้เรียนเพียงปี 2 ได้มากกว่าความรู้จากวิชาชีพ เพราะได้คุณธรรมติดตัวมาด้วย ทำให้มุมมองความคิดเราเปลี่ยนไปกลายเป็นผู้ให้มากขึ้น”
ชอบหรือใช่? อาจจะเป็นปัญหาที่วงการศึกษาไม่ได้นึกถึงมากนัก แค่ชอบแต่ไม่ใช่ อาจจะส่งผลทำให้คนที่เป็นครูขาดจิตสำนึกบางอย่างไป การเปิดพื้นที่แบบนี้ตั้งแต่ปีแรกๆ ของการเรียนอาจจะช่วยให้ได้ “ครูตัวจริง” นี่คือโครงการครูเพื่อศิษย์ ที่มีแนวคิดดีๆ ฝากไว้กับสังคมไทย โครงการนี้อยู่ภายใต้โครงการพลังพลเมืองเยาวชน (กลุ่มมหาวิทยาลัย) ดำเนินงานโดยสงขลาฟอรั่ม สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่มา หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันอาทิตย์ ที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2558