ช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมของทุกปี เป็นฤดูกาลที่คนทำงานมีเงินได้ต่างต้องรวบรวมข้อมูลและเอกสารต่างๆ มายื่นเสียภาษี สำหรับใครที่ต้องกรอกภาษีเอง โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนมือใหม่ อาจสับสนหรือไม่แน่ใจว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร ทาง K-Expert จึงได้แนะนำ “5 ร. ให้รู้ก่อนยื่นภาษี” ในงานสัมมนา K-Expert Workshop ตอน “ไขข้อข้องใจ มนุษย์เงินเดือนกรอกภาษี”
ร.ที่ 1 รู้จักตนเอง
เงินได้ในทางภาษีมีด้วยกัน 8 ประเภท ก่อนกรอกภาษีจึงต้องทำความเข้าใจก่อนว่ารายได้ของเรามีอะไรบ้าง ซึ่งเงินได้ที่มนุษย์เงินเดือนพบบ่อย เช่น เงินเดือนและโบนัส ค่านายหน้า ดอกเบี้ยหรือเงินปันผลจากหุ้น ค่าเช่า รวมถึงค่าขายกองทุน LTF/RMF/เงินปันผลจากกองทุน การรู้จักเงินได้ของตัวเอง ทำให้เราเลือกยื่นแบบ ภ.ง.ด. ที่ถูกต้อง นอกจากนี้ คนที่จดทะเบียนสมรสแล้ว สามารถเลือกวิธียื่นได้หลายวิธี เช่น ต่างคนต่างยื่นของตัวเอง รวมยื่นที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และแยกยื่นเฉพาะเงินเดือน การเลือกสถานะในการยื่นแบบที่เหมาะกับคู่ของตนเอง ก็จะช่วยให้ประหยัดภาษีได้
ร.ที่ 2 รวบรวมเอกสาร
เพื่อให้การกรอกภาษีถูกต้องและรวดเร็ว ควรรวบรวมเอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นให้ครบถ้วน บ่อยครั้งที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. ไปแล้ว ทางสรรพากรเรียกขอเอกสารเพิ่ม เนื่องจากเอกสารไม่ครบ ทำให้การขอคืนหรือชำระภาษีเกิดความล่าช้า สำหรับเอกสารสรุปเงินได้ที่ต้องเตรียม เช่น สลิปเงินเดือน หนังสือรับรองดอกเบี้ย หนังสือรับรองการจ่ายเงินปันผล หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นต้น ส่วนเอกสารสรุปค่าลดหย่อนต่างๆ เช่น หนังสือรับรองการจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การหักค่าหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา/ผู้ทุพพลภาพ/การชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อบ้าน ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตตนเองหรือประกันสุขภาพของบิดามารดา ค่าซื้อหน่วยลงทุนกองทุน LTF/RMF เป็นต้น
ร.ที่ 3 เรียนรู้เงื่อนไขและสิทธิที่มี
เพื่อให้สามารถนำสิทธิมายื่นลดหย่อนได้อย่างเต็มที่ ควรศึกษาเงื่อนไขของค่าลดหย่อนนั้นให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับเงินได้ ค่าลดหย่อนที่มาพร้อมสถานะ หรือค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับการออมและลงทุน นอกจากนี้ เงินได้บางประเภทที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว เปิดโอกาสให้เลือกได้ว่าจะนำเงินได้นั้นมารวมคำนวณเป็นเงินได้ในแบบ ภ.ง.ด. อีกหรือไม่ก็ได้ เช่น เงินได้ประเภทดอกเบี้ย หรือเงินปันผล เป็นต้น โดยเราควรนำเงินได้นั้นมารวมคำนวณในแบบ ภ.ง.ด. เพื่อขอคืน หากอัตราภาษีที่บุคคลธรรมดาของเราที่ต้องเสีย น้อยกว่าอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ร.ที่ 4 เริ่มกรอก ภ.ง.ด.
ทุกครั้งที่กรอก ภ.ง.ด. ควรตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ที่สะดวกในการติดต่อหรือสถานภาพของตัวเอง ทางสรรพากรเปิดให้กรอก ภ.ง.ด. ในช่วงมกราคมถึงมีนาคมของทุกปี โดยเลือกได้ว่าจะยื่นด้วยตนเองหรือยื่นทางอินเตอร์เน็ต แต่ต้องยื่นให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 31 มีนาคม การกรอก ภ.ง.ด. หรือการยื่นแบบทางอินเตอร์เน็ต ถึงแม้จะมีความสะดวกและรวดเร็ว แต่หากข้อมูลไม่พร้อมหรือขาดความเข้าใจในเงื่อนไขค่าลดหย่อนบางรายการ ก็อาจกลายเป็นอุปสรรคทำให้เราไม่สามารถยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตไปได้ง่ายๆ ก็เป็นได้ ดังนั้น ก่อนเข้า ร.ที่ 4 นี้ ผู้เสียภาษีทุกคนจึงควรปฏิบัติตาม ร.ที่ 2 และเข้าใจ ร.ที่ 3 ให้ดีเสียก่อน
ร.ที่ 5 รับคืน / ชำระเพิ่ม
เมื่อกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้ว พบว่า ภาษีที่คำนวณได้ น้อยกว่าภาษีที่หักไว้แล้ว เราสามารถขอรับคืนเงินภาษีได้ ในทางตรงกันข้าม หากภาษีที่คำนวณได้ มากกว่าภาษีที่หักไว้ เรามีหน้าที่ต้องชำระเพิ่ม โดยถ้ามีภาระภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม 3,000 บาทขึ้นไป และไม่สามารถชำระเต็มจำนวนได้ ผู้เสียภาษีสามารถขอผ่อนชำระได้สูงสุด 3 งวดโดยไม่เสียดอกเบี้ย
ปัจจุบัน กรมสรรพากรได้พัฒนาระบบการยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตให้ใช้งานง่ายมากขึ้น ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีเงินได้ทุกคน ดังนั้น หากเราเตรียมความพร้อม กรอกแบบ ภ.ง.ด. ได้ถูกต้อง รวมถึงเตรียมเอกสารไว้อย่างครบถ้วน ก็ช่วยให้การยื่นภาษีและขอคืนภาษีทำได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับใครที่ต้องการทดลองคำนวณภาษีก่อนยื่นจริง ทาง K-Expert ได้เตรียมโปรแกรม Tax Buddy ไว้เป็นเครื่องมือช่วย โดยสามารถดาวน์โหลดได้จาก www.askkbank.com/k-expert
ขอบคุณที่มาจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์