พี่น้องร่วมสาบาน
ในสังคมที่เราเติบโตขึ้นมานอกเหนือจากคนในครอบครัวแล้ว เรายังมีโอกาสพบปะกับคนอื่น ๆ อีกมากมาย บ้างก็สนิทสนมเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน อย่างที่เคยได้ยินกันมาว่าเป็นพี่น้องร่วมสาบาน คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์มานุษยวิทยา สำนักงานราชบัณฑิตยสภา อธิบายว่า พี่น้องร่วมสาบาน (blood brotherhood) หมายถึง การเป็นพี่น้องหรือพันธมิตรจากการทำพิธีที่แต่ละฝ่ายดื่มเลือดของกันและกัน โดยอาจดื่มเลือดจากรอยกรีดบนร่างกายโดยตรง หรือกลืนเนื้อสัตว์ ถั่ว หรือเมล็ดกาแฟ ที่มีเลือดจากรอยกรีดของคู่สาบานหยดลงไป
ความสนใจเรื่องพี่น้องร่วมสาบานของนักมานุษยวิทยายุคแรก ๆ เกิดจากการมองว่าครอบครัวและการเป็นญาติเป็นสถาบันทางสังคมพื้นฐานและกลไกการควบคุมทางสังคมที่สำคัญในสังคมบรรพกาล (primitive societies) นักมานุษยวิทยาบางคนมองว่าการสืบสายโลหิตเดียวกัน (consanguinity) เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดความเป็นญาติ ดังนั้นการดื่มหรือกลืนเลือดของคนอื่นที่ไม่อยู่ในสายเลือดเดียวกันจึงเป็นวิธีสร้างความเป็นญาติของคนต่างสายเลือด หรือนักมานุษยวิทยาบางคนเห็นว่า ในสังคมบรรพกาลมีแต่ญาติเท่านั้นที่มีพันธะต่อกัน ดังนั้นใครก็ตามที่ต้องการแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือกับผู้อื่น จึงต้องหาวิธีเข้าร่วมเครือญาติ การเป็นพี่น้องของคนจากต่างสายเลือดจึงทำได้ด้วยการดื่มหรือกลืนเลือดของกันและกัน
ต่อมา นักมานุษยวิทยาพบว่าการนับญาติเป็นพี่น้องของคนต่างสายเลือดไม่ได้ทำโดยการดื่มหรือกลืนเลือดของอีกฝ่ายเท่านั้น ทำให้เอ็ดเวิร์ด อะเล็กซานเดอร์ เวสเตอร์มาร์ก (Edward Alexander Westermarck) เสนอว่า เลือดอาจไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่สร้างความเป็นญาติของพี่น้องร่วมสาบาน ปัจจัยที่สำคัญกว่าคือ การให้คำมั่นสัญญาและการสาบานว่าจะรักษาสัญญา เลือดเพียงทำหน้าที่นำคำสัญญาและคำสาบานเข้าสู่ร่างกาย และกำกับให้แต่ละฝ่ายรักษาสัญญา.
โดย จินดารัตน์ โพธิ์นอก
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์