สอบครูผู้ช่วย ราบรื่นไม่พบปัญหา สพฐ.วางมาตรการเข้มให้พิมพ์ลายนิ้วมือในบัตรเข้าสอบและใบลงชื่อสอบ สกัดตัวปลอมสอบแทน และมีการตรวจโดยใช้ไม้-เครื่องแสกน จ่อนำมาตรการไปใช้กับการสอบครูผู้ช่วยทั่วไปเดือน เม.ย.นี้ ขณะที่วิชาสังคม มีตำแหน่งว่างมากที่สุด 551 อัตรา และมีผู้สมัครคัดเลือกมากที่สุดกว่า 4 พันราย
วันนี้ (28 ก.พ.) ที่สนามสอบโรงเรียนพญาไท นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมด้วยนางรัตนา ศรีเหรัญ รองเลขาธิการ กพฐ. และผู้บริหารเดินทางตรวจเยี่ยมการ จัดสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครู ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ว 16,ว 17 สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์-1 มีนาคม 2558 โดยวันแรก เป็นการสอบข้อเขียน ภาค ก ความรอบรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครู และภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ภาคค สอบสัมภาษณ์ วันที่ 1 มีนาคม และประกาศผลการคัดเลือก วันที่ 6 มีนาคม ซึ่งจัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศ ใน 225 เขตและ 1 สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) รวม 226 เขตฯ ผู้มีสิทธิเข้ารับการสอบคัดเลือกสอบ จำนวน 25,535 ราย แบ่งเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 17,713 ราย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 6,880 ราย และ สศศ.942 ราย โดยมีตำแหน่งว่าง จำนวน 5,430 อัตรา แบ่งเป็น กลุ่มเขตพื้นที่ฯ ปกติ จำนวน 5,124 อัตรา และเขตพื้นที่ฯ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 306 อัตรา ใน 66 วิชาเอก
นายกมล เปิดเผยภายหลังตรวจสนามสอบ ว่า ภาพรวมการจัดสอบทั่วประเทศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังไม่มีรายงานการทุจริตหรือทำผิดระเบียบการสอบ อย่างไรก็ตามการสอบครั้งนี้จะแตกต่างกับปีที่ผ่านมา โดยให้เขตพื้นที่ฯเป็นผู้จัดสอบเองซึ่งบางแห่งผู้ทรงคุณวุฒิในเขตพื้นที่ฯ เป็นผู้ออกข้อสอบเอง หรือให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกข้อสอบ ซึ่งในแง่ของเนื้อหาข้อสอบคิดว่าไม่แตกต่างกันเพราะมีการกำหนดหัวข้อหลักไว้ แต่ความยากง่ายอาจจะไม่เท่ากัน ซึ่งคิดว่าไม่มีปัญหาเพราะเป็นการเปิดสอบภายในเขตพื้นที่ฯก็เชื่อว่าจะได้ ครูที่เหมาะสมเข้าไปทำงานได้ ขณะเดียวกัน ได้สั่งการให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศเข้มงวด ดูแล และปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการเพื่อให้เกิดความ โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ ไม่ให้เกิดปัญหาการทุจริตในทุกขั้นตอนของการจัดสอบในครั้งนี้
"มาตรการป้องกันการทุจริตการสอบครูผู้ช่วยนั้นจะเข้มข้นมากกว่าการสอบผู้บริหารสถานศึกษา โดยจะมีการพิมพ์ลายนิ้วมือในบัตรผู้เข้าสอบและใบลงชื่อสอบเพื่อป้องกันปัญหา การเข้าสอบแทน จัดผังที่นั่งให้มีระยะห่างที่ไม่สามารถมองเห็นและคัดลอกกันได้ และสลับเลขที่นั่งสอบระหว่างภาคเช้ากับภาคบ่าย รวมถึงมีเครื่องสแกนหรือไม้สแกนเพื่อป้องกันการทุจริตด้วย ทั้งนี้ ตัวผู้เข้าสอบให้ความร่วมมือปฏิบัติตามระเบียบการเข้าสอบที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่มผมคิดว่าอาจจะนำมาตรการนี้ไปใช้ในการสอบครูผู้ช่วยทั่วไปที่จะสอบในเดือนเมษายน 2558 ด้วย แต่อาจจะมีมาตรการเพิ่มเติม อาทิ กำหนดเครื่องแต่งกายผู้เข้าสอบ เช่นเดียวกับการสอบนายร้อย ที่ให้ใส่แค่กางเกงวอมกับเสื้อยืด แต่สอบครูอาจไม่ต้องเข้มถึงขั้นนั้น "นายกมล กล่าว
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สพฐ. ระบุว่ากลุ่มวิชาที่มีตำแหน่งว่างประกาศคัดเลือกมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สังคมศึกษา 551 อัตรา คณิตศาสตร์ 547 อัตรา ภาษาอังกฤษ 524 อัตรา ปฐมวัย 429 อัตรา และคอมพิวเตอร์ 428 อัตรา ส่วนกลุ่มวิชาที่มีผู้สมัครมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สังคมศึกษา 4,465 ราย คอมพิวเตอร์ 3,844 ราย วิทยาศาสตร์ทั่วไป 3,177 ราย พลศึกษา 2,256 ราย และภาษาอังกฤษ 2,061 ราย
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 28 กุมภาพันธ์ 2558