สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. จัดประชุมระดมความคิด "ประเมินแบบอาสาสมัคร ทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด" โดยเผยข้อมูลแนวทางการประเมินรอบ 4 จากมุมมองมองอาจารย์ พบว่า สถานการณ์ที่แท้จริงของการศึกษานั้น ครูแต่ละคนแต่ละโรงเรียนมีบริบทและปัญหาที่ต่างกัน ทุกโรงเรียนควรได้รับการตรวจสอบและได้รับการชี้แนะอย่างใกล้ชิด
ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า คณาจารย์ที่เข้าร่วมกิจกรรมประชุมระดมความคิด "ประเมินแบบอาสาสมัคร ทำอย่างไรให้ได้ประโยชน์สูงสุด" เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการประเมินการศึกษาของประเทศไทยยังคงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการประเมินทุกแห่ง ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติและกฎกระทรวง กำหนดให้การประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษา โดยมีการบันทึกเป็นฐานข้อมูล รวบรวมเป็นรายงานประจำปีเป็นประจำทุกๆ ปี เสนอต้นสังกัดให้เข้าประเมินอย่างน้อย 1 ครั้ง ในทุกๆ 3 ปี เพื่อตรวจสอบและสนับสนุนให้สถานศึกษาพัฒนาด้านคุณภาพได้เหมาะสม สำหรับการประเมินคุณภาพภายนอกโดย สมศ. ตามที่กฎหมายกำหนดให้มีการประเมินอย่างน้อย 1 ครั้งในทุกๆ 5 ปี ให้สถานศึกษารวบรวมเอกสาร หลักฐานที่เป็นฐานข้อมูลให้ผู้ประเมินใช้เพื่อการตรวจสอบให้ได้สภาพความเป็นจริงของสถานศึกษา
ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า จากตัวอย่างในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับดีแล้วด้วยวิธี NAP (NATIONAL ASSESSMENT PROGRAM) ด้วยการไปกำหนดว่าประถม มัธยมศึกษามีวิชาใดบ้างที่ต้องการวัด แล้วทำข้อทดสอบมาตรฐานขึ้น นำไปทดสอบสถานศึกษาที่ต้องการทดสอบในแต่ละปี ไม่ได้ทดสอบทุกโรงเรียนแต่เป็นการสุ่มตัวอย่างเพื่อเป็นตัวแทนของประชากรแล้วเอาผลมาอ้างอิง ไม่ได้สนใจคะแนนแต่ละโรง แต่สนใจผลรวม แต่สำหรับประเทศไทยเราต้องดูบริบทของประเทศว่าเราจะใช้วิธีการใดเพื่ออะไร จะทำเพื่อดูภาพรวมๆ ในแต่ละสถานศึกษา เพื่อเป็นฐานการตัดสินใจของการศึกษา หรือจะทำเพื่อเอาผลไปใช้สำหรับการปรับปรุงพัฒนาการศึกษาอย่างตรงจุด สำหรับคณาจารย์ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th
ที่มา หนังสือพิมพ์บ้านเมือง 27 ก.พ.2558