วันนี้ (25 ก.พ.) ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังร่วมประชุมคณะกรรมการบริหาร สทศ. โดยมี นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ ศ.(กิตติคุณ) ดร.สมหวัง พิธิยานุวัติ ประธานคณะกรรมการบริหาร สทศ.และรศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ. และกรรมการ สทศ. เข้าร่วม ว่า ที่ประชุมได้หารือและมีมติเห็นชอบลดจำนวนการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net จาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เหลือเพียง 5 กลุ่มสาระฯ ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม ส่วนของกลุ่มสาระฯสังคมศึกษาฯ ที่ก่อนหน้านี้เคยมีข้อเสนอให้ สทศ. จัดสอบวัดความรู้และในส่วนของบริบทเฉพาะในแต่ละพื้นที่ให้โรงเรียนสอบวัดผลนั้น ที่ประชุมเห็นว่าเพื่อให้การวัดผลเป็นไปในมาตรฐานเดียวกันให้ สทศ. เป็นผู้จัดสอบทั้งหมด ส่วนอีก 3 กลุ่มสาระฯ ได้แก่ ศิลปะ สุขศึกษาและพลศึกษา และการงานอาชีพและเทคโนโลยี นั้นเห็นตรงกันให้โรงเรียนเป็นผู้จัดสอบเอง
นอกจากนั้น ที่ประชุมได้หารือกรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เสนอว่าต้องประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปีเพื่อให้นักเรียนได้เตรียมตัวนั้น ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเหตุและผล รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็ไม่พบว่ามีกฎหมายใดกำหนดว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงการจัดสอบอะไรจะต้องประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี ดังนั้น ที่ประชุมมีมติว่าจะเริ่มสอบ O-Net ใน 5 กลุ่มสาระฯ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 ซึ่งจะจัดสอบต้นปี 2559 ส่วนอีก 3 กลุ่มสาระฯที่โรงเรียนต้องเป็นผู้จัดสอบ ซึ่งทั้ง สทศ. และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็ยืนยันว่าสามารถดำเนินการจัดทำข้อสอบได้ ขณะเดียวกัน ที่ประชุมเสนอให้ตนไปหารือ ทปอ. จะมีปัญหาหรือไม่หากจะเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป ซึ่งตนก็รับจะไปคุยให้เกิดความชัดเจน
“ส่วนกรณีที่ ทปอ. ยืนยันว่า ในปีการศึกษา 2558 จะใช้คะแนน O-Net ใน 8 กลุ่มสาระฯ เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลาง หรือ แอดมิชชัน ที่ประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาลึกในรายละเอียดพบว่า 3 กลุ่มสาระฯ ที่ให้โรงเรียนสอบนั้นให้ค่าน้ำหนักไว้รวมกันที่ 5% แต่ใน 5 กลุ่มสาระฯ ให้ค่าน้ำหนักรวมที่ 25% เฉลี่ยกลุ่มละ 5% ที่เหลือเป็นผลเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร หรือ จีแพ็กซ์ (GPAX) 20% เพราะฉะนั้น การลดจำนวนกลุ่มสาระฯ จึงไม่กระทบต่อการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาแน่นอน แต่จะช่วยลดปัญหาการกวดวิชาของเด็ก แต่ในอนาคต ทปอ. จะใช้คะแนน O-Net หรือไม่ขึ้นอยู่กับ ทปอ.จะไม่มีการบังคับ”พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว
ด้าน นายกฤษณพงศ์ กล่าวว่า จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าเด็กนิยมกวดวิชา ทั้ง 8 กลุ่มสาระฯ แม้แต่ 3 กลุ่มสาระฯ หลังที่ไม่ได้มีผลต่อการเรียนต่อมากนัก เพราะเป็นวิชาที่วัดผลทางทักษะและสามารถจัดกิจกรรมและวัดผลโดยทางโรงเรียนได้ ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยอาจจะหาแนวทางวิธีการพิจารณาผลใน 3กลุ่มสาระฯ เช่น พิจารณาแฟ้มสะสมผลงานของเด็ก เป็นต้น
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาธิการ กกอ.) กล่าวว่า การสอบ O-Net นั้น เป็นการวัดผลเมื่อสิ้นสุดการศึกษาและที่ต้องการให้ ทปอ.นำคะแนนไปใช้ก็เพราะต้องการส่งเสริมการเรียนการสอนในห้องเรียนเพื่อลดปัญหาการกวดวิชา ซึ่งการที่คงไว้ 5 กลุ่มสาระฯก็เพื่อเน้นการเรียนในห้องเรียนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตัวโรงเรียนและนักเรียน ส่วนอีก 3 กลุ่มที่ลดลงนั้นใช้ค่าน้ำหนักน้อยขณะเดียวกันยังมีความหลากหลายของสาระที่อยู่ในเนื้อหา สทศ. พิจารณาว่าอาจไม่จำเป็นที่จะต้องสอบและหากใช้ในการสอบแข่งขันยิ่งไม่จำเป็น ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับ ทปอ. ว่า หากต้องการคงไว้ 8 กลุ่มสาระฯ ก็ต้องหาวิธีการวัดผลใน 3 กลุ่มสาระฯที่เหลือต่อไป
ด้านศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธาน ทปอ. กล่าวว่า หาก สทศ. ยืนยันจะจัดสอบ O-Net เพียง 5 กลุ่มสาระฯ และ 3 กลุ่มสาระฯให้โรงเรียนออกข้อสอบเอง นั้น ทปอ. จะไม่ใช้คะแนนสอบ O-Net ใน 3 กลุ่มสาระฯที่โรงเรียนจัดสอบเพราะจะทำให้เด็กเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกัน แต่อาจจะใช้เพียงผลสอบ O-Net ที่ สทศ. จัดสอบ 5 กลุ่มสาระฯ เท่านั้น และต้องมาปรับการให้ค่าน้ำหนักของ O-Net ที่ใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อเกิดความยุติธรรมกับเด็กมากที่สุด ส่วนที่ รมว.ศึกษาธิการ จะหารือกับ ทปอ. ในเรื่องการปรับลดสอบ O-Net เป็นเรื่องที่ดีและตนพร้อมจะชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นทั้งหมด และยืนยันสิ่งที่ทำไปเพื่อเด็ก อย่างไรก็ตาม หาก ทปอ. จะมีการปรับองค์ประกอบและค่าหนักค่าที่จะใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการปรับใหญ่ จะต้องมีการประกาศล่วงหน้า 3 ปีให้เด็กทราบ
ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์ 25 กุมภาพันธ์ 2558